เนื้อหาวันที่ : 2010-04-27 14:36:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1417 views

TMB คาดสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทย ปี 53 โตถึง 6%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดปี 53 สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยจะโตถึง 6% เหตุเศรษฐกิจเริ่มฟื้น และอุปสงค์ยังมีอยู่

.

“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB” คาดการณ์แนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย ปี 2553 เติบโตร้อยละ 6 ในปี 2552 สภาพคล่องในระบบที่ยังสูง อัตราส่วนเงินฝากต่อสินเชื่อที่ต่ำ และกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังมีอยู่ แสดงถึงความต้องการสินเชื่อที่ยังมีน้อย 

.

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่กระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปี 2552 จะส่งผลให้เริ่มมีความต้องการลงทุนมากขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยอุปสงค์ของสินเชื่อ คาดว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยจะเติบโตประมาณร้อยละ 6 ในปี 2553 

.

“TMB Analytics” หรือ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB” รายงานว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปี 2552 หดตัวหลังจากที่ 6-7 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2551 ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย ตัวชี้ความต้องการสินเชื่อ ได้แก่ สภาพคล่องในระบบ อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก และความต้องการลงทุน แสดงถึงความต้องการสินเชื่อยังอยู่ในระดับต่ำ

.

สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ช่วงปี 2549 ถึงกลางปี 2551 ค่อนข้างคงที่ แต่เมื่อเกิดวิกฤติการเงินโลก ทำให้ความต้องการสินเชื่อน้อยลง สภาพคล่องกลับสูงขึ้น แล้วจึงค่อยๆ ลดลงอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส1/52 ระดับสภาพคล่องที่สูงเกินไปชี้ว่าความต้องการลงทุนมีน้อย แต่เมื่อไรก็ตามที่ระดับสภาพคล่องน้อยลงอาจส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยกำลังจะเพิ่มขึ้นได้ 

.

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก หรือ L/D ratio นับแต่วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 ต่ำกว่า 100% มาโดยตลอด แสดงว่าเงินฝากมีมากกว่าสินเชื่อที่ปล่อย แต่อัตราส่วนดังกล่าวขยับสูงขึ้นในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด และ ค่อยๆลดลงหลังจากนั้น L/D ratio จะขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น เมื่อดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น L/D ratio ก็มักจะขยับขึ้นก่อน เพราะผู้กู้รีบเข้าตลาดสินเชื่อมากขึ้น      

.

ขณะที่ช่วงเศรษฐกิจไม่ดี L/D ratio จะต่ำลง แต่ตัวเลขในช่วงปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า L/D ratio ไม่ได้ต่ำลงมากแม้สินเชื่อจะหดตัว แสดงถึงด้านเงินฝากเองก็ลดลงเช่นกัน L/D ratio ที่สูงขึ้น อาจส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการลงทุนที่กำลังจะดีขึ้น และการลงทุนสามารถชี้ความเป็นไปของเศรษฐกิจได้ดีกว่าการบริโภค

.

ความต้องการลงทุนสามารถพิจารณาได้จากเครื่องชี้สำคัญประกอบกัน คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) และ อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization - CAPU) MPI จะบอกความต้องการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันดัชนีค่อยๆเพิ่มจากช่วงวิกฤติ ขึ้นมาใกล้เคียงและสูงกว่าในระดับก่อนเกิดวิกฤติแล้ว ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตจะแสดงให้เห็นได้ว่ากำลังการผลิตที่ใช้อยู่มีสัดส่วนเท่าใดจากกำลังการผลิตทั้งหมดที่มีอยู่

.

สังเกตได้ว่าช่วงที่เกิดวิกฤติ CAPU ลดลงไปอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 55 แสดงว่ามีกำลังการผลิตเหลือมากเพราะความต้องการสินค้าลดลง แต่ CAPU ค่อยๆ ปรับกลับมาที่ร้อยละ 65-70 ณ ปัจจุบัน ซึ่งยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติ ดังนั้น การลงทุนโดยรวมก็อาจจะยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่บ้าง

.

อย่างไรก็ดี ควรต้องพิจารณาลงไปในรายภาคอุตสาหกรรมด้วย เนื่องจากบางภาคเศรษฐกิจที่มี CAPU สูง ก็อาจต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมกำลังการผลิตสำหรับรับคำสั่งซื้อ ขณะที่บางภาคธุรกิจมี CAPU ต่ำ ก็จะยังไม่มีการลงทุน ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 70-80 มักเป็นระดับที่ผู้ประกอบการจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น

.

ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงและวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยการวิเคราะห์ของ “TMB Analytics” หรือ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB” ที่คาดการณ์ว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยจะเติบโตร้อยละ 6 ในปี 2553 โดยมีปัจจัยจาก 

.

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2. มีอุปสงค์ของสินเชื่อที่ไม่ได้รับการตอบสนองในช่วงที่ผ่านมา (Pent-up demand) เนื่องจากช่วงปี 2552ธนาคารปล่อยสินเชื่อน้อยลงโดยเน้นความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ ทำให้ผู้ต้องการกู้เงินบางรายไม่ได้สินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา 

.

3. ดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น อุปสงค์บางส่วนจะเร่งเข้ามาในช่วงที่ดอกเบี้ยยังต่ำอยู่ อย่างไรก็ดี ก็ต้องขึ้นกับความจำเป็นที่จะต้องการเงินทุนไปลงทุนเพิ่มด้วยว่ามีหรือไม่ เพราะอุปสงค์ของสินเชื่อจะยังไม่เกิดขึ้นหากยังไม่มีความจำเป็นในการขยายงาน แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำก็ตาม 

.

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่น่าเป็นกังวลต่อการเติบโตของสินเชื่อ ได้แก่ NPL ซึ่งโดยปกติแล้ว NPL จะไม่เกิดทันทีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่จะทิ้งระยะเวลาไปช่วงหนึ่งซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้การปล่อยสินเชื่อยังมีความเข้มงวดอยู่ นอกจากนั้น           

.

สถานการณ์รั้งการลงทุนอย่างกรณีมาบตาพุด การเกิดโรคระบาด ความไม่สงบทางการเมือง และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังไม่เสถียร จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุปสงค์ของสินเชื่อได้

.

มุมมองของเราสินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่จะเติบโตในปี 2553 แต่สถานการณ์การเมืองจะเป็นปัจจัยถ่วงสำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนและการบริโภคในประเทศ ดังนั้น แม้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะค่อยๆดีขึ้น การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจทำไม่ได้เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น

.

ธนาคารพาณิชย์ยังจะคงมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสีย ดังนั้น อัตราการเติบโตของสินเชื่อจึงมีแนวโน้มเติบโตในระดับใกล้เคียงกับหลายปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 6 ต่อปี