เนื้อหาวันที่ : 2010-04-27 09:15:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 559 views

บีโอไอเผย ต่างชาติยังมั่นใจ ยอดขอ FDI โตต่อเนื่อง

ไตรมาสแรกปี 53 นักลงทุนต่างชาติยังมั่นใจประเทศไทย ยอดขอบีโอไอขยายตัวทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน

.

บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ช่วงไตรมาสแรก 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยมีโครงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ 184 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ญี่ปุ่นยังนั่งแท่นอันดับหนึ่งลงทุนในไทย และขอลงทุนเพิ่มร้อยละ 145 ด้านจีนมาเป็นอันดับสองเล็งขยายลงทุนในไทยกว่า 6,000 ล้านบาท

.

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยถึงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ในช่วงไตรมาสแรกปี 2553 (ม.ค. – มี.ค. 53) ว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงแสดงความสนใจเข้ามาลงทุน ในประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยมีโครงการลงทุนจากต่างประเทศยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 184 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2552 ซึ่งมีจำนวน 141 โครงการ 

.

ส่วนมูลค่าเงินลงทุนของโครงการจากต่างประเทศก็ขยายตัวถึงร้อยละ 137 โดยในไตรมาสแรกปีนี้ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 44,399 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามีมูลค่า 18,737 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และนำมาซึ่งการวางแผนลงทุนเพิ่มในระยะข้างหน้า 

.

ทั้งนี้ โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอส่งเสริม มีทั้งการลงทุนในโครงการใหม่ 94 โครงการและขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว 90 โครงการ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนนั้น มาจากโครงการขยายกิจการประมาณ 24,688 ล้านบาท มากกว่าโครงการลงทุนใหม่ที่มีประมาณ 19,710 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งนักลงทุนต่างชาติรายเดิมที่เคยลงทุนในไทยแล้ว และนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในไทย ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นแหล่งน่าลงทุนของประเทศไทย 

.

ส่วนประเภทกิจการที่นักลงทุนต่างชาติยื่นขอส่งเสริมและมีปริมาณเงินลงทุนสูงสุด คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 44 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 14,416 ล้านบาท รองลงมาคือ กิจการบริการและสาธารณูปโภค 42 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 10,344 ล้านบาท

.

ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด มีจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริม 66 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 21,565 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 145 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนของญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 8,785 ล้านบาท โดยโครงการขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

.

รองลงมาคือการลงทุนจากจีน มีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริมรวม 8 โครงการ ปริมาณเงินลงทุน 6,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เพราะมีโครงการขนาดใหญ่ผลิตพลังงานไฟฟ้า 

.

อันดับสามคือสิงคโปร์ จำนวน 21 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,147 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งจากอาหาร และโครงการร่วมทุนระหว่างไทยสิงคโปร์ในการผลิตเคมีภัณฑ์