เนื้อหาวันที่ : 2010-04-26 16:21:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1212 views

สนช. จับมือเอกชนปลุกกระแสผู้บริโภคใช้พลาสติกชีวภาพ

สนช. จับมือสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยปลุกกระแสผู้บริโภค หวังกระตุ้นยอดการใช้พลาสติกชีวภาพ

สนช. จับมือสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยปลุกกระแสผู้บริโภค หวังกระตุ้นยอดการใช้พลาสติกชีวภาพ

.

.

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) [สนช.] กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA) จัดงานสัมมนา “Green Innovation: นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

.

กรณีศึกษางาน Eco-Product 2009 ประเทศญี่ปุ่น และงาน European Bioplastics Conference สหพันธรัฐเยอรมนี เพื่อเป็นแนวทางในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี และกลไกและความเป็นไปได้ด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของประเทศไทย ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ

.

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่ส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความเชื่อมั่นในการลงทุนของประเทศไทย ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความตื่นตัวในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

.

โดย สนช. ได้ตอบรับการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยตามแผนที่นำทางแห่งชาติฯ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ทั้งหมด 4 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) การสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบชีวมวล 2) การเร่งรัดและสร้างเทคโนโลยี 3) การสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม และ 4) การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นการดำเนินการแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

.

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการสหพันธรัฐเยอรมนี (GTZ) ในการศึกษานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในต่างประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโนวา สหพันธรัฐเยอรมนี และวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อันจะส่งผลกับภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ นำไปสู่การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป”

.

ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา สนช. ได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพ เพื่อมุ่งเป้าขยายผลไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์โครงการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสติกชีวภาพดังกล่าว ภายใต้กรอบวงเงิน 150 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี

.

การให้การสนับสนุนหน่วยงานวิจัยและภาคเอกชนในการแสวงหาเทคโนโลยีด้านพลาสติกชีวภาพในต่างประเทศ เพื่อเป็นการเปิดมุมมองให้ปรับเข้ากับการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมด้านพลาสติกชีวภาพจำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยร่วมกับบริษัทเอกชน

.

รวมถึงการประสานงานสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ อันได้แก่ การจัดตั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ การกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเร่งสร้างนโยบายส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างตลาดพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย และนโยบายส่งเสริมด้านภาษี”

.

“นอกจากนี้ สนช. ยังได้จัดทำและนำเสนอผลงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแล็กติกแอซิด (PLA) ในประเทศไทย ทั้งองค์ประกอบและปัจจัยที่ใช้ในการจัดตั้งโรงงานดังกล่าว รวมถึงการวิเคราะห์แผนธุรกิจการลงทุนโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ที่กำลังการผลิตตั้งแต่ 10,000 - 100,000 ตันต่อปี

.

เพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจและเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ในกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เช่น ปตท. เอสซีจี ซีพีพีซี และไทยเบฟเวอเรจ เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 5000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า”

.

“สำหรับการสร้างความตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สนช. ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลกระดังงา จังหวัดสมุทรสาคร ในโครงการนำร่องการใช้ถุงขยะพลาสติกมาใช้ในการแยกขยะอินทรีย์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีข้อมูลที่ชัดเจนในการสนับสนุนด้านนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการลงทุนจากรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

.

เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงยังมีราคาสูงกว่าพลาสติกทั่วไป 3 - 5 เท่า ซึ่งอาศัยการสร้างตลาดใหม่สำหรับสำหรับผู้ที่มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว สนช. ยังได้ร่วมกับบริษัท บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3 เพื่อสร้างความตื่นตัวและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม

.

ซึ่งเป็นปิ่นโตใส่อาหารที่ทำมาจากพลาสติกชีวภาพ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3 จะทำการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการรับรู้ในหมู่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ สนช. ยังอยู่ในระหว่างการประชาสัมพันธ์การใช้พลาสติกชีวภาพกับบริษัทชั้นนำอื่นๆ เช่น การบินไทย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น” ดร. ศุภชัย กล่าวเพิ่มเติม

.

รศ. ดร. พิฑูร ตรีวิจิตรเกษม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีผู้บริโภคกำลังสับสนกับชนิดของพลาสติกที่มีสมบัติสลายตัวได้ทางชีวภาพที่แท้จริง เนื่องจากมีการแอบอ้างว่ามีคุณสมบัติการสลายตัวได้ทางชีวภาพ หรือในเชิงการค้าที่ใช้คำที่คุ้นหูว่าย่อยสลายได้ทางชีวภาพ กับพลาสติกที่ใช้อยู่โดยทั่วไปที่เกิดจากการแตกสลายด้วยแสงแดด (Photo degradation) หรือการแตกสลายด้วยการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxo-degradable)

.

ซึ่งในความจริงแล้วเป็นเพียงการเติมสารเติมแต่งที่เร่งให้เกิดการตัดสายโซ่พลาสติก ทำให้เห็นลักษณะแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเมื่อเศษพลาสติกแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ กลับส่งผลเสียมากกว่ากล่าวคือ ทำให้ยากต่อจัดเก็บ รวมทั้งเกิดการฟุ้งกระกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่าย ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างต่อเนื่อง

.

รวมทั้งไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงได้ว่ามีการสลายตัวได้ทางชีวภาพอย่างสมบรูณ์ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรับรองพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะเปลี่ยนเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของสารอ้างอิงมาตรฐาน ภายในระยะเวลา 6 เดือน และต้องไม่ทิ้งสารตกค้างที่มองเห็นด้วยตาเปล่าที่เป็นพิษหลงเหลือไว้

.

ทั้งนี้ มีรายงานการสนับสนุนทางวิชาการอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างดังกล่าว เช่น รายงานของมหาวิทยาลัย Loughborough ของประเทศอังกฤษ ที่แสดงให้เห็นว่าพลาสติก Oxo-degradable ไม่มีผลใดที่ช่วยทางด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังไม่สามารถนำมาใช้ในการขึ้นรูปใหม่ในกระบวนการรีไซเคิลได้อีกด้วย”