อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเปิดอาคาร Garden of Innovation ขยายฐานบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีพร้อมหนุนChungnam Techno Park เปิดตัวหน่วยบ่มเพาะธุรกิจจากเกาหลีใต้ คาดเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและดึงดูดฐานความรู้สู่ไทย
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยเปิดอาคาร “Garden of Innovation” ขยายฐานบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีพร้อมหนุน Chungnam Techno Park เปิดตัวหน่วยบ่มเพาะธุรกิจจากเกาหลีใต้ คาดเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและดึงดูดฐานความรู้ |
. |
. |
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยหรือ Thailand Science Park (TSP) ภายใต้การบริหารของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวอาคาร Garden of Innovation เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีที่จะเข้ารับการบ่มเพาะเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ |
. |
พร้อมกับเปิดตัวโครงการ Korea Technology Business Incubator หรือ KTBI@TSP ที่เป็นความร่วมมือกับ Chungnam Techno Park (CTP) อุทยานวิทยาศาสตร์จากสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ คาดเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนา ดึงดูดฐานความรู้จากเกาหลีใต้สู่ไทย และเกิดช่องทางการตลาดนำสินค้าเทคโนโลยีไทยสู่เกาหลีใต้ในอนาคตอันใกล้ |
. |
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) |
. |
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร Garden of Innovation ในวันนี้ ซึ่งอาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้เข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี |
. |
ในการทำการวิจัยและพัฒนาผลงานให้เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ และเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นบรรยากาศในการทำงาน จึงมีแนวคิดการออกแบบให้ผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ และเป็นที่มาของชื่อ “Garden of Innovation” บนพื้นที่โครงการทั้งหมดประมาณ 6,800 ตารางเมตร |
. |
โดยมีพื้นที่สำหรับ บ่มเพาะธุรกิจจำนวน 21 ยูนิต ล้อมรอบด้วยสวนและต้นไม้ที่ร่มรื่น ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในอุทยานวิทย์ฯ ที่เป็นนิคมวิจัยแห่งแรกของประเทศและเป็นแหล่งรวมนักวิจัยจาก 4 ศูนย์แห่งชาติ มีความพรั่งพร้อมในด้านสาธารณูปโภคและการให้บริการด้านการวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบครบวงจร |
. |
สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะเข้ารับการบ่มเพาะนั้นจะต้องเป็นธุรกิจเทคโนโลยีที่จัดตั้งใหม่และจดทะเบียนในประเทศไทย และเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนา โดยใช้ฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบูรณาการเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมจนนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ |
. |
ในโอกาสเดียวกันนี้ ยังได้เปิดตัวโครงการ Korea Technology Business Incubator หรือ KTBI@TSP ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP) กับ Chungnam Techno Park (CTP) อุทยานวิทยาศาสตร์จากสาธารณรัฐเกาหลี โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคาร Garden of Innovation จะเป็นสถานที่ตั้งของ KTBI@TSP |
. |
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง TSP และ CTP ในครั้งนี้ว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ Chungnam Techno Park ได้ตกลงเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์พี่น้อง (Sister Parks) ในปี พ.ศ. 2550 ต่อมา Chungnam Techno Park ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี ให้จัดตั้งหน่วยบ่มเพาะธุรกิจแห่งแรกของเกาหลีในต่างประเทศขึ้น จึงได้หารือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และได้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้ง KTBI@TSP ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา” |
. |
โครงการ KTBI@TSP มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (เริ่มตั้งแต่มีนาคม พ.ศ. 2553- มีนาคมพ.ศ.2558) โดยChungnam Techno Park จะคัดเลือกบริษัทเทคโนโลยีใหม่จากสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีความพร้อมในการขยายการดำเนินการเข้าสู่ตลาด ASEAN ให้เข้ามาจัดตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนาใน KTBI@TSP โดยบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องมีกิจกรรมวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นธุรกิจ และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยก่อนเข้าพื้นที่ |
. |
โดยเมื่อบริษัทใน KTBI@TSP สำเร็จการบ่มเพาะธุรกิจฯ บริษัทสามารถสมัครเข้าเป็นผู้เช่าพื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนาในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้ตามขั้นตอนปกติ ซึ่งเมื่อเป็นผู้เช่าพื้นที่แล้ว อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จะให้บริการแก่บริษัทใน KTBI@TSP ด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับที่ให้บริการบริษัทของไทย ซึ่งรวมถึงการได้รับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนต่างๆ จาก BOI และ กรมสรรพากรด้วย |
. |
ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “โครงการ KTBI@TSP เป็นการดึงดูดการลงทุนฐานความรู้จากสาธารณรัฐเกาหลีเข้าสู่ประเทศไทย โดยที่มี Chungnam Techno Park เป็นผู้ทำการตลาดและคัดเลือกบริษัทที่มีความเหมาะสมในเบื้องต้น และส่งให้อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยให้ความเห็นชอบ |
. |
ซึ่งการที่บริษัทจากสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาจัดตั้งบริษัทในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ทำให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ทั้งการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี รวมไปถึงการเกิดช่องทางในการนำสินค้าเทคโนโลยีของไทยไปเปิดตลาดในสาธารณรัฐเกาหลีได้” |
. |
ในด้านความร่วมมือระหว่าง KTBI@TSP กับ 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. (เนคเทค เอ็มเทค ไบโอเทค และนาโนเทค) นั้น ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าวว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยมีกิจกรรมส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยภาครัฐและเอกชนอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็จะเปิดโอกาสให้นักวิจัยของบริษัทเกาหลีได้มีโอกาสรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยของทั้ง 4 ศูนย์แห่งชาติภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยได้โดยง่าย |
. |
นอกจากนี้ กลไกบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยียังมุ่งเน้นการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับแหล่งความรู้และกลไกสนับสนุนต่าง ๆ ดังนั้น หากผู้ประกอบการจากเกาหลีใน KTBI@TSP ต้องการพบปะหารือกับนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใด หน่วยบ่มเพาะธุรกิจก็จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้” |
. |
Prof. Dr.Hak-Min Kim |
. |
Prof. Dr.Hak-Min Kim, President & CEO of Chungnam Techno Park สาธารณรัฐเกาหลี กล่าวถึงแผนการดำเนินโครงการ ว่า “KTBI@TSP จะเป็นสถานที่สำหรับบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี โดยจะมีผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งจะดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ |
. |
เพื่อการต่อยอดสู่การผลิตและนำออกสู่การตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยทางผู้ประกอบการเกาหลีจะนำเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะแสวงหาผู้ประกอบการและนักวิจัยไทยเพื่อทำงานร่วมกันในการนำองค์ความรู้พัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์สามารถออกสู่ตลาดไทยและ ASEAN ได้ |
. |
ในทางกลับกันผู้ประกอบการไทยก็สามารถทำงานร่วมกับ ผู้ประกอบการเกาหลี เพื่อส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของไทยสู่เกาหลีได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังหวังว่า ทั้งผู้ประกอบการไทยและเกาหลี จะสามารถร่วมมือกันพัฒนาแนวคิดธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสามารถขยายไปสู่ตลาดในระดับโลกได้ด้วย” |
. |
Prof. Dr.Hak-Min Kim ยังได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทจากเกาหลีเข้าร่วมบ่มเพาะใน KTBI@TSP ว่า CTP จะมีหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการ คือ 1) ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในเกาหลีและมีสิทธิบัตรในเทคโนโลยีที่ใช้ดำเนินธุรกิจนั้น ๆ 2) ต้องมีแผนการวิจัยและพัฒนาหรือแผนการผลิตในประเทศไทย และ |
. |
3) ต้องมีแผนการทำตลาดในประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยธุรกิจเทคโนโลยีหลักที่ KTBI@TSP มุ่งเน้นและให้ความสำคัญจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านไอที เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทางเลือก กรีนเทคโนโลยี รวมทั้งธุรกิจเทคโนโลยีอื่น เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ |
. |
“การจัดตั้งโครงการ KTBI@TSP นี้นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จครั้งสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ของเกาหลีและอุทยานวิทยาศาสตร์ของไทย ในการสร้างประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเทศในการทำวิจัยและพัฒนา และการนำผลงานวิจัยไปสู่กระบวนการผลิตและตลาดได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Garden of Innovation แห่งนี้จะเป็นแหล่งรวมของผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะมาสรรค์สร้างผลงานร่วมกันจนนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด” Prof.Dr. Kim กล่าว |
. |
เกี่ยวกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science park , TSP) |
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยถือเป็น “นิคมเพื่อการวิจัยและพัฒนา” แห่งแรกของประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการของ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งดำเนินงานในการสร้างความมั่นคงและเสริมศักยภาพให้แก่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศ |
. |
โดยจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเสริมสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งนอกจากพื้นที่เช่าคุณภาพสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้ว อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ยังมีบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจเทคโนโลยีที่ครบวงจร ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เพิ่มเติมที่ www.sciencepark.or.th |