เนื้อหาวันที่ : 2010-04-26 10:58:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 520 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 19-23 เม.ย.53

รายได้รัฐบาลสุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.53 จัดเก็บได้ 116.3 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 21.3 พันล้านบาทหรือร้อยละ 22.4 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.8 ซึ่งผลการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าเป้าหมายในเดือน มี.ค. 53 มีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีสรรพสามิตรน้ำมัน ที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 9.67 พันล้านบาท 5.62 พันล้านบาท และ 6.25 พันล้านบาท ตามลำดับ

.

ทั้งนี้ รายได้ภาษีจาก 3 กรมจัดเก็บในเดือน มี.ค. 53 เท่ากับ 141.01 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.1 ต่อปี สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยภาษีฐานรายได้และภาษีฐานการบริโภค ขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี และร้อยละ 30.7 ต่อปี ตามลำดับส่งผลให้รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ต.ค.52 - มี.ค.53) เท่ากับ 675.5 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 128.9 พันล้านบาท

.

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ (หักอัตราเงินเฟ้อ) ในเดือน มี.ค. 53 อยู่ที่ระดับ  41,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 37,936 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 27.6  ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 26.8 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก

.

1) ปัจจัยฐานต่ำเมื่อปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก  และ 2) รายได้ภาคชนบทปรับตัวดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น  ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในไตรมาสแรกของปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 22.2 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี

.

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีความตึงเครียดมากขึ้น จนทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและการพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระยะต่อไป 

.

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 97.5 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.6 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 53 ขยายตัวร้อยละ 63.5 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

.

เนื่องจากผลของการคาดว่ามาตรการลดหย่อนภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือน มี.ค. 53 จึงได้มีการเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังสะท้อนถึงการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างเช่นกัน

.

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.1 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.0 ต่อปี  โดยได้รับปัจจัยบวกจาก  1) รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  

.

2) ภาครัฐปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.53 เป็นต้นมา ส่งผลให้ภาคครัวเรือนยังคงมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 31.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี

.

การจ้างงานเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.3 แสนคนจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.5 ต่อปี อันเป็นผลจากการจ้างงานในสาขาค้าส่งค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่เพิ่มขึ้นมากจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 3.2 และ 3.0 แสนคน ตามลำดับ โดยทั้ง 2 สาขาดังกล่าวได้รับปัจจัยบวกจากการที่เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

.

ทำให้ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากปรับค่าการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.4 แสนคน หรือร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการจ้างงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง