เนื้อหาวันที่ : 2010-04-26 10:05:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1283 views

ดัชนีฯ SMEs ก.พ. ลดลงอยู่ที่ 46.5

สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนกุมภาพัน 2553 ลดลงอยู่ที่ 46.5 โดยมีบริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ค้าปลีกสินค้าอุปโภค/บริโภค และค้าส่งสินค้าเกษตร เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลงมากที่สุด

สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือนกุมภาพัน 2553 ลดลงอยู่ที่ 46.5 โดยมีบริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ค้าปลีกสินค้าอุปโภค/บริโภค และค้าส่งสินค้าเกษตร เป็นกลุ่มที่ค่าดัชนีลดลงมากที่สุด

.

.

เหตุเพราะผ่านพ้นช่วงเทศกาล สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ระดับราคาน้ำมันเพิ่ม และภัยแล้งที่มาเร็วกว่าปกติ ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ในระดับเกินกว่า 50

.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2553 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 46.5 จากระดับ 50.3 และเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ

.

โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 46.5  46.1 และ 46.8 จากระดับ 50.4  50.4 และ 50.3 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตนเอง ที่ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 40.5 และ 45.1 จากระดับ 51.8 และ 50.8 ตามลำดับ

.

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ค่าดัชนีลดลง มีผลมาจากอยู่นอกช่วงเวลาเทศกาล ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มมีกระแสมากขึ้น นอกจากนี้ระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

.

ปัญหาโครงการมาบตาพุดที่ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน  และปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายและกำไร  ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมันในการประกอบธุรกิจลดลง” ผอ.สสว. กล่าว

.

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นประเภทกิจการ พบว่า ภาคการค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าเกษตร มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 44.7 จากระดับ 51.1 (ลดลง 6.4) ภาคการค้าปลีก กิจการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 45.1 จากระดับ 51.9 (ลดลง 6.8) ส่วนภาคบริการ ธุรกิจบริการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นกลุ่มที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด

.

โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุดในกลุ่มและมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทุกธุรกิจที่ทำการสำรวจโดยอยู่ที่ 45.8 จากระดับ 53.6 (ลดลง 7.8) รองลงมาคือ โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ บังกะโล ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 43.6 จากระดับ 50.3 (ลดลง 6.7) และธุรกิจบริการท่องเที่ยว ค่าดัชนีอยู่ที่ 45.1 จากระดับ 51.3 (ลดลง 6.2)

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 51.8 จากระดับ 51.1 และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคการค้าส่ง ภาคการค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.9  51.5 และ 52.1 จากระดับ 50.6  51.2 และ 51.1 ตามลำดับ

.

“แม้ว่าค่าดัชนีปัจจุบันจะลดลง แต่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังคงเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่เกินกว่า 50 ในทุกประเภทกิจการ ซึ่งสะท้อนว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าในระดับที่ดี

.

โดยเห็นว่าปัจจัยเกื้อหนุนจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 23.1 และระดับราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับสูง ฯลฯ” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

.

ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2553 พบว่าทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง โดยภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่มีค่าดัชนีลดลงมากที่สุดอยู่ที่ 46.1 จากระดับ 54.4 (ลดลง 8.3) รองลงมาคือภาคเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 43.2 จากระดับ 48.3 (ลดลง 5.1)

.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 46.8 จากระดับ 48.7 (ลดลง 2.0) กรุงเทพฯ ปริมณฑล ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 48.2 จากระดับ 49.2 (ลดลง 1.0) และ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 48.7 จากระดับ 49.6 (ลดลง 0.9)

.
ดัชนีความเชื่อมั่น TSSI (SMEs)
ประจำเดือนกุมภาพันธ์ เปรียบเทียบเดือนมกราคม 2553

.
หมายเหตุ :  M = เดือนปัจจุบัน   F3= คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า