ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมีนาคม 2553 และในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2553 |
. |
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนมีนาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.16 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้ากว่า 21,000 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 1.29 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 23.6 สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและต่อเนื่อง |
. |
ในเดือนมีนาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 116,311 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,268 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.4 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าประมาณการจำนวนมาก โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา |
. |
สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 – มีนาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 675,488 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 128,896 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.6 โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลัง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร สามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 61,254 58,170 และ 10,682 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.9 13.9 และ 28.8 ตามลำดับ |
. |
นายสาธิตฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2553 ที่สูงกว่าเป้าหมายและแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ปีงบประมาณ 2553 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ กว่า 1.7 แสนล้านบาทได้อย่างแน่นอน” |
. |
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ |
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 476,179 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 58,170 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 6.3) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 43,034 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.3 |
. |
เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 12,722 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.9 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากฐานเงินเดือนและฐานอสังหาริมทรัพย์ได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ |
. |
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 207,395 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 61,254 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 64.9) เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 |
. |
ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ยาสูบ เบียร์ และสุรา สูงกว่าประมาณการ 28,987 6,988 6,539 และ 2,410 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.1 35.0 25.1 และ 11.8 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้สูงกว่าประมาณการถึง 15,911 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ประกอบการมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และโครงการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก |
. |
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 47,807 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,682 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 15.4) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,305 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.6 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 - กุมภาพันธ์ 2553 |
. |
การนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.4 และ 13.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการจัดเก็บอากรขาเข้าได้รับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับสินค้านำเข้าจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเหลือร้อยละ 0 เกือบทุกรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นต้น |
. |
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 35,485 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,149 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 18.4) เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กองทุนรวมวายุภักษ์ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และธนาคารออมสินนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,290 1,100 758 และ 708 ล้านบาท ตามลำดับ |
. |
อย่างไรก็ดี โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังนำส่งรายได้ ต่ำกว่าประมาณการ 733 ล้านบาท เนื่องจากนำเงินไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ นอกจากนี้ บมจ.การบินไทยไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุน |
. |
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 41,422 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,568 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 9.0) เนื่องจากในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้วยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังจำนวน 3,447 ล้านบาท |
. |
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 111,444 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,309 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 1.0) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 80,218 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,782 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 31,226 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,091 ล้านบาท เนื่องจากการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อยู่ในระดับที่สูง |