เนื้อหาวันที่ : 2010-04-23 17:28:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1642 views

ก.พลังงานฝันไทยขึ้นแท่นผู้นำพลังงานแสงอาทิตย์

ก.พลังงานมั่นใจโอกาสที่ไทยจะเป็นผู้นำการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเชื้อเพลิงในเอเชีย และก้าวไปสู่ผู้ส่งออกเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ก.พลังงานมั่นใจโอกาสที่ไทยจะเป็นผู้นำการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเชื้อเพลิงในเอเชีย และก้าวไปสู่ผู้ส่งออกเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

.

.

ความมั่นคงทางด้านพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของทุกประเทศ ผนวกกับภัยคุกคามอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจกับการดำรงชีวิตและการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสาเหตุของปัญหาก็คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล

.

ดังนั้น ในแผนพลังงานทดแทน 15 ปี กระทรวงพลังงาน จึงได้ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เป็นร้อยละ 20 ของความต้องการพลังงานขั้นต้น ภายใน 15 ปีหรือภายในปี 2565 และหากบรรลุเป้าหมายนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงในด้านพลังงานให้กับประเทศไทยโดยการลดการนำเข้าพลังงาน เชิงพาณิชย์ปีละไม่ต่ำกว่า 460,000 ล้านบาท      

.

นอกจากนี้ ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 42 ล้านตันต่อปี พลังงานหมุนเวียนที่มีศักยภาพนำมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิลมีหลายชนิด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ถูกมองว่า เป็นพลังงานหมุนเวียนที่น่าจะมีศักยภาพสำหรับประเทศไทยเพราะเป็นเมืองร้อน 

.

จึงมักมีคำถาม ทำไมประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากๆ เหมือนที่เรามีโรงไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงบ้าง..?

.

ดังนั้นเพื่อตอบข้อสงสัย ตลอดจนชี้แจงนโยบายรัฐในการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีคำตอบดังนี้

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงายนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า  การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย มีมาตั้งแต่ปี 2546 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดประมาณ 500 กิโลวัตต์ ณ อำเภอผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องยอมรับว่าในอดีตการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีการลงทุนที่สูง และยังจำกัดอยู่เพียงหน่วยงานของรัฐ ทำให้องค์ความรู้ต่างๆ จำกัดอยู่เฉพาะบุคคลบางกลุ่ม

.

ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงได้มีนโยบายผลักดันให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน โดยบรรจุไว้ในแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ทั้งนี้ในการที่จะผลักดันให้ประสบผลสำเร็จจะต้องพัฒนาอย่างครบวงจรทั้งระบบ ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ พัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมตลาดพลังงานแสงอาทิตย์

.

การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การให้ส่วนเพิ่มราคาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Adder) แก่ผู้ที่เสนอขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย จำนวน 8 บาทต่อหน่วย การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน มาตรการด้านภาษี การส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยและก้าวไปสู่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

.

สำหรับความเป็นไปได้ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ มีโอกาสเป็นไปได้สูง  โดยในอนาคตอันใกล้นี้ ภายในเดือนเมษายน 2553 เราจะได้เห็นทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 6.1 เมกะวัตต์  ซึ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 73 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

.

ทั้งนี้จากการที่กระทรวงพลังงาน ได้ให้ส่วนเพิ่มราคาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Adder)   เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากขึ้นจากเดิมที่มีการขายไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 7.7 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีผู้สนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าภายใต้ระเบียบ SPP และ VSPP กว่า 200 ราย  มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบมากกว่า 800 เมกะวัตต์

.

นอกจากนี้  กระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี หรือในปี 2565  จำนวน 500 เมกะวัตต์ นอกจากพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานความร้อน เช่น ระบบทำน้ำร้อนในโรงแรม รีสอร์ท ระบบอบแห้งในอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งต้องวิจัยพัฒนาต่อไปเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

.

ด้านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (มพส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อย ดังนั้นพลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่ มพส.เห็นว่ามีศักยภาพและสมควรที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าพัฒนาให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป

.

นางสาวสุวพร ศิริคุณ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม(มพส.) กล่าวถึงศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ในการใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าของไทยว่า เบื้องต้นมีการประมาณศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ทางทฤษฎีไว้ที่ 50,000 เมกะวัตต์  

.

แต่ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ใช้ประโยชน์แล้วยังเป็นโครงการเล็กๆ เช่น การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังเข้าไปไม่ถึง ส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เป็นลักษณะฟาร์มโซล่าร์มีประมาณ 6 โครงการ รวมกำลังการผลิตไม่ถึง 10 เมกะวัตต์ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันเอกชนได้ให้ความสนใจลงทุนผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบมากขึ้น

.

แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นเมืองร้อนมีแสงแดดแทบทั้งปี แต่ใช่ว่าทุกพื้นที่ใน ประเทศไทยจะสร้างโซล่าร์ฟาร์มได้ทั้งหมด เพราะความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 18.2 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน โดยค่าความเข้มของแสงอาทิตย์สูงสุดในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา  สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานีและอุดรราชธานี เป็นต้น

.

เมื่อเปรียบเทียบความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ของประเทศต่างๆทั่วโลกจะพบว่า แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีค่าความเข้มข้นของแสงอาทิตย์สูงถึง 21.6 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน รองลงมาคือ อินเดีย 20.3 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน ออสเตรเลีย 19.6 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน สหรัฐอเมริกา 19 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน ไทย 18.2 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน

.

จีน 18 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน ญี่ปุ่น 13 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน และเยอรมนี 12.4 ล้านจูนต่อตารางเมตรต่อวัน จากข้อมูลความเข้มข้นของแสงอาทิตย์จะเห็นว่าขนาดประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังมีค่าความเข้มข้นของแสงอาทิตย์น้อยกว่าไทยมาก ดังนั้นไทยก็น่าจะทำได้โดยที่ไม่สงสัย

.

แต่เมื่อถามถึงความสำเร็จของพลังงานเทคโนโลยีแสงอาทิตย์ของไทยวันนี้ว่าได้รับความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ต้องตอบว่าถือว่าได้รับการตอบรับดีขึ้นจากช่วงแรกๆ เพราะ 1.เทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงจนคุ้มค่าต่อการลงทุน

.

2.ได้รับการยอมรับจากชุมชนมากขึ้นเพราะเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงตัวอื่นแล้วถือว่าปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก และ 3.สถาบันการเงินต่างๆในประเทศเริ่มมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นว่าเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องวัตถุดิบก็เลยปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้มากขึ้น

.

สำหรับต้นทุนต่อหน่วยของพลังงานแสงอาทิตย์ที่คำนวณไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี  ที่ประเมินไว้ที่ระดับ 15-20 บาทต่อหน่วยนั้น ทางมูลนิธิพลังงานฯได้คำนวณแล้วว่าเป็นระดับที่อยู่ได้ โดยเป็นราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.50 บาทต่อหน่วย แล้วบวกส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) อีก 8 บาทต่อหน่วย

.

ซึ่งราคาระดับนี้ได้มีการคำนวณถึงต้นทุนต่างๆหมดแล้ว ส่วนเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ล่าสุดมีการพัฒนาไปถึงขั้นเป็นแบบจานหมุนตามความเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์แล้ว ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงของโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า

.

นับว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ และกำลังเป็นพลังงานที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่แพ้ไปจากพลังงานนิวเคลียร์ เพราะเป็นพลังงานสะอาดที่มีการปล่อยมลพิษและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน