เนื้อหาวันที่ : 2010-04-23 11:41:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1730 views

ม.อ.พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ภาพผ่านวงจรปิด

ม.อ.พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหว ช่วยติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้บุตรหลานสามารถเฝ้าระวังการหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต

ม.อ.พัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหว ช่วยติดตามกิจกรรมของผู้สูงอายุผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้บุตรหลานสามารถเฝ้าระวังการหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต

.

.

ดร.นิคม สุวรรณวร ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากภาวะของสังคมไทยที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และความใส่ใจในสุขภาพมีมากขึ้น ทำให้บุตรหลานจำเป็นต้องดูแลกลุ่มผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเจอในกลุ่มผู้สูงอายุ คือ การหกล้มหรือหมดสติ ที่เป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุอาจเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้

.

ทั้งนี้ คณะผู้ทำวิจัย ได้ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย พฤกษ์ภัทรานนต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ภาพด้านการแพทย์และวิศวกรรมฟื้นฟู ในการพัฒนาโปรแกรมการพัฒนาระบบประมวลผลภาพและวิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหวและพัฒนาระบบศูนย์อัจฉริยะ

.

โดยได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (Nectec) ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่บุตรหลานสามารถเฝ้าระวังผู้สูงอายุผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือนำมาวิเคราะห์การทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุการหกล้ม ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย โดยไม่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้สูงอายุ

.

.

“ก่อนหน้านี้ การตรวจจับการหกล้มจะใช้ระบบเซ็นเซอร์ ประกอบกับวงจรอิเลคทรอนิคส์ที่ผู้สูงอายุต้องสวมใส่ตลอดเวลา ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก แต่เทคโนโลยีปัจจุบันจะใช้การประมวลผลภาพ โดยอาศัยข้อมูลความกว้าง ความยาว แกน และความเร็วจากการประมวลผล ซึ่งสามารถตรวจจับเหตุการณ์การหกล้มได้ถูกต้องถึง 66.67% แต่หากเป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะที่ชัดเจนจะมีความถูกต้องสูงถึง 80% ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำสูง” ดร.นิคม กล่าว 

.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขนิษฐา นาคะ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ร่วมทำการวิจัยพัฒนาระบบ กล่าวว่า การนำระบบดังกล่าวมาใช้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการช่วยเหลือคนชราที่ไม่มีญาติ หรือไม่มีผู้ดูแล เพราะระบบจะเฝ้าระวังป้องกันการหกล้มในกลุ่มผู้สูงอายุ และในอนาคตจะพัฒนาระบบเพื่อเตือนให้ทราบหลังจากมีการจับประมวลภาพ

.

เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่เมื่อเกิดเหตุการณ์หกล้มมักมีผลกระทบไปถึงสมอง ซึ่งแพทย์สามารถนำภาพเหตุการณ์มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตรวจเช็คอวัยวะสำคัญในร่างกายได้อย่างทันท่วงที