HBIRM เผยสารพันปัญหาผู้อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร-คอนโดมิเนียม ย้ำธุรกิจบริหารหลังการขายและบริหารชุมชนมีความสำคัญต่อการสะสางให้โครงการน่าอยู่ รับปัญหาจัดสรรกระทบการจัดการชุมชน
HBIRM เผยสารพันปัญหาผู้อยู่อาศัยในโครงการจัดสรร-คอนโดมิเนียม ย้ำธุรกิจบริหารหลังการขายและบริหารชุมชนมีความสำคัญต่อการสะสางให้โครงการน่าอยู่ ยอมรับปัญหาจัดสรรกระทบการจัดการชุมชน โดยเฉพาะการไม่ชำระค่าส่วนกลางเพราะลูกค้าไม่พึงพอใจ |
. |
นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ |
. |
นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชบี อินเตอร์ เรียลตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (HBIRM) และอดีตนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่ลูกค้าเข้าอยู่อาศัยในโครงการจัดสรรว่า จากประสบการณ์ในการบริหารชุมชน ทั้งโครงการจัดสรรและอาคารชุด |
. |
พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการชำรุดและบกพร่องในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน เช่น หลังคารั่ว ผนังแตกร้าว พื้นทรุดตัว ท่อน้ำแตกหรืออุดตัน ปัญหาสุขภัณฑ์ชำรุด รวมทั้งเรื่องสัญญาณกันขโมยดังตลอดเวลาหรือไม่ดังฯลฯ |
. |
นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น เพื่อนบ้านเลี้ยงหมา แมว นก ฯลฯ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในการอยู่อาศัยตามมา บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงแล้วกรณีดังกล่าวมีการทำร้ายร่างกายหรือฆ่ากันตายมาแล้ว ปัญหาเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ที่เข้าไปบริหารหลังการขาย |
. |
ในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการที่ HBIRM เข้าไปบริหารนั้น จะทำหน้าที่ในการประสานงานกับเจ้าของโครงการ เนื่องจากโครงการมีระยะเวลาในการรับประกันคุณภาพ โดยปกติแล้วจะมีการรับประกันคุณภาพอุปกรณ์ทั่วไป 1 ปี และรับประกันโครงสร้างบ้าน 5 ปี อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับโครงการจัดสรรที่มีผู้อยู่อาศัยระหว่าง 1-5 ปี ก็จะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ |
. |
“สมาชิกในโครงการที่มีปัญหาต่าง ๆ มักจะไม่แจ้งกับเจ้าของโครงการโดยตรง แต่จะใช้บริการผ่านผู้บริหารหลังการขาย ซึ่งมีหน้าที่ในการประสานงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งนี้ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีทั้งได้รับการแก้ไขโดยทันที เนื่องจากเจ้าของโครงการมีความรับผิดชอบ และไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์โครงการเสียหาย |
. |
ในขณะเดียวกันก็มีโครงการที่ไม่เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของลูกค้ามากนัก เช่น มีความล่าช้าในการแก้ไขหรือเพิกเฉยไม่ยอมซ่อมแซมส่วนที่ลูกค้าแจ้ง ทำให้ลูกค้าบางรายไม่เข้าอยู่อาศัย หรือประกาศขายบ้านดังกล่าว” นายธนันทร์เอก ให้ความเห็น |
. |
นอกจากนี้แล้วยังกล่าวถึงเรื่องความไม่พึงพอใจของผู้อยู่อาศัยว่า หากปัญหาต่าง ๆ ในโครงการไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ผู้ที่ต้องรับศึกหนักก็คือผู้บริหารหลังการขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารชุมชน เนื่องจากเจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ต้องการได้รับการแก้ไขปัญหา โดยไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร |
. |
บางครั้งก็เหมาไปว่าผู้ให้บริการหลังการขายเป็นพวกเดียวกับเจ้าของโครงการที่ขาดความรับผิดชอบ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือคนเหล่านี้ไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลาง ส่งผลกระทบต่อการบริหารและจัดการในโครงการดังกล่าวโดยตรง เช่น ทำให้รายรับไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย |
. |
ในกรณีนี้บริษัทบริหารทรัพย์สินที่เป็นมืออาชีพอาจหาทางออกด้วยการลดค่าใช้จ่าย หรือการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อหารายได้ให้กับนิติบุคคลหรือคณะกรรมการหมู่ มิเช่นนั้นอาจกระทบต่อความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย หรือทำให้การจัดการชุมชนได้อย่างไม่เต็มที่ |
. |
นายธนันทร์เอก เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในโครงการจัดสรร หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันทีทันใดและทันใจผู้อยู่อาศัย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความไม่ร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้นกับผู้บริหารชุมชน โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ก็คือการไม่ยอมจ่ายค่าบริการส่วนกลาง โดยอ้างว่าต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อน |
. |
ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่บริหารชุมชนจำเป็นต้องออกกฎระเบียบให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น ห้ามรบกวนคนอื่น ห้ามปล่อยออกนอกบ้านโดยไม่มีสายลากจูง รวมทั้งการรักษาความสะอาดฯลฯ เมื่อมีกฎระเบียบแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกทุกหลังทราบ และกล่าวตักเตือนหากมีการทำผิดระเบียบ |
. |
อย่างไรก็ตาม นักบริหารชุมชนจะต้องใส่ใจผู้อยู่อาศัยทุกครอบครัว เพราะต้องทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากการดูแลชุมชนให้น่าอยู่จะต้องได้รับความร่วมมือจากสมาชิกทุก ๆ คน |