เนื้อหาวันที่ : 2010-04-22 15:13:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 664 views

คลังผลักดันระบบ e-GP ให้บริการเมษายนนี้

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าวันนี้ 7 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่อง โครงการพัฒนาระบบงาน e- GP การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) ระยะที่ 1 ซึ่งพร้อมดำเนินงานได้ ตั้งแต่ วันนี้ ผ่านเว็บไซด์ แบบ One Stop Service ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ให้บริการแก่ประชาชน ที่โปร่งใส ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น

.

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงการคลังได้มีการพัฒนาระบบงานต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำงาน พร้อมให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐได้ตลอดเวลา

.

ในส่วนงานของกรมบัญชีกลาง ได้มีการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement : e-GP) มาโดยตลอด จากเดิมในระยะแรกเป็นระบบงานที่ให้หน่วยจัดซื้อมาประกาศจัดซื้อจัดจ้างบนเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง www.gprocurement.go.th เท่านั้น

.

ส่วนขั้นตอนอื่น ๆ หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการไปตามระเบียบที่กำหนด แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบให้สามารถติดตามความคืบหน้าของการจัดซื้อจัดจ้างได้ และพร้อมที่จะเปิดให้บริการได้ทันทีวันที่ 1 เมษายน 2553 นี้

.
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ e-GP ประกอบด้วย 3 ระบบใหญ่ คือ 
- ระบบการประมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) เป็นการแข่งขันเสนอราคาระหว่างผู้ค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ 
.

- ระบบตลาดกลางการซื้อขายสินค้าและบริการภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) เป็นการรวบรวมสินค้า และ ร้านค้าหรือบริษัทต่าง ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่าง ผู้ซื้อ (Buyer) และผู้ขาย (Supplier) เป็นตลาดกลางระหว่างธุรกิจร้านค้ากับหน่วยงานภาครัฐ B2G หรือ Shopping Mall ขนาดใหญ่นั่นเอง และ

.

- ระบบที่สำคัญ คือ ระบบศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง (Electronic Procurement Information Center : EPIC) ผู้ประกอบการหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้ามาลงทะเบียนในระบบ เพื่อติดตามข่าวสารการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ตลอดเวลา โดยระบบจะส่งข้อมูลที่ต้องการทราบทาง e- mail โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างกว้างขวางและสามารถตรวจสอบได้ 

.

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวต่อท้ายว่า “การจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-Auction ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 และสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 89,739 ล้านบาท โดยเฉลี่ยประหยัดได้ ปีละประมาณ 17,947.80 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.81 ของวงเงินงบประมาณราคากลางที่ได้รับ ในส่วนของระบบตลาดกลางการซื้อขายสินค้า (e-Marketplace) ผู้ซื้อซึ่งเป็นส่วนราชการจะได้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่ผู้ขายหรือผู้ประกอบการซึ่งเป็นภาคเอกชนได้ลงทะเบียนไว้ในระบบ

.

ทำให้เลือกหารายการสินค้าหรือบริการได้สะดวกครอบคลุมทำให้เกิดการแข่งข้นสูงขึ้นเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐ และยังช่วยให้ผู้บริหารของหน่วยงานสามารถติดตามสถานะหรือความคืบหน้าของการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานได้ทุกขั้นตอนในลักษณะ online ว่าอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนใด

.

ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนคือมีโอกาสที่จะได้ทำธุรกิจกับภาครัฐได้มากขึ้น เนื่องจากในอนาคตส่วนราชการจะเลือกเฉพาะร้านค้าที่ได้ลงทะเบียนไว้เท่านั้น

.

นอกจากนี้ยังสามารถเข้ามาติดตามกระบวนการจัดซื้อของภาครัฐได้ด้วยในฐานะประชาชนทั่วไปเมื่อลงทะเบียนไว้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการจัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบงานด้านจัดซื้อจังจ้างเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานบ้างแล้ว ถือว่าเป็นการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า และเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง”