เนื้อหาวันที่ : 2010-03-26 15:01:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2434 views

คนอีสานลุกฮือต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เครือข่ายพลังงานทางเลือกฯ จวกกฟผ.คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็น สำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐาน ชี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ลงทุนสูง ส่งผลกระทบรุนแรง

เครือข่ายพลังงานทางเลือกฯ จวกกฟผ.คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็น สำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐาน ชี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง ลงทุนสูง ส่งผลกระทบรุนแรง

.

.

วันที่ 24 มีนาคม 53 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมประดิษฐ์มนูญธรรม ศูนย์กฎหมายเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เครือข่ายภาคประชาชนอีสานจัดเวทีเสวนา “ทำไมภาคอีสานต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมที่มาจาก กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ต้นน้ำเซิน

.

กลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านคัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้า และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ รวมทั้งหมด 100 กว่าคน โดย มีวิทยากรมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านพลังงานในประเทศไทย และปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อีกทั้งยังมีการเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนซักถามข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ร่วมกันของผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาในครั้งนี้

.

โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ถูกกำหนดขึ้นภายใต้แผนพัฒนาพลังงานของประเทศในอนาคต โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และกระทรวงพลังงานมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการ ซึ่งมีการเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีความเหมาะสมสำหรับการดำเนินโครงการ ใน 4 จังหวัด คือ สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ ตราด และขอนแก่น

.

สำหรับจังหวัดขอนแก่นนั้นมีการกำหนดความเหมาะสมพื้นที่ดำเนินโครงการที่เขตอำเภอภูผาม่าน ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์ เนื่องจากมีความเหมาะสมของที่ๆ มีภูเขาโอบล้อมและอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ คือ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ อีกทั้งพื้นที่นี้ยังเป็นเขตอุทยานแห่งชาติมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง

.

นายวิทูรย์ เพิ่มพงษ์ศาเจริญ เครือข่ายพลังงานทางเลือกเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวว่า การศึกษาของ กฟผ. เกี่ยวกับทางเลือกในการพัฒนาพลังงาน 9 ทางเลือก ได้มีการบรรจุการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอาไว้ทั้งหมด และได้มองถึงการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยที่เกินความจำเป็น เพราะในปัจจุบันนั้นประเทศไทยได้มีการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 20 – 30 ทั้งที่ในความเป็นจริงของการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าสำรองนั้นมีเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ ร้อยละ 15 เท่านั้น

.

“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้าหลัง การลงทุนสูง และมีผลกระทบอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้จากเมื่อกว่า 20 ปีก่อน กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วที่เชอนาบิล ประเทศรัสเซียแล้วกระจายออกไปและส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้างไปจนถึงทวีปอเมริกา ซึ่งปัจจุบันในหลายประเทศได้ยุติการดำเนินการแล้ว” นายวิฑูรย์กล่าว

.

นายวิทูรย์ ได้กล่าวอีกว่า ปัจจัยการตัดสินใจในการเลือกพื้นที่นั้น นอกจากความเหมาะสมทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว ปัจจัยทางด้านการเมือง คือ การจัดการกับมวลชนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินโครงการจะเป็นสิ่งตัดสิน เพราะเข้าใจได้ว่านักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่มักจะใช้ฐานมวลชนของตนในการสนับสนุนให้มีการดำเนินโครงการในพื้นที่ที่มีมวลชนของตนอยู่

.

“ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพียงแค่ขั้นตอนของการสำรวจเพื่อกำหนดความเหมาะสมของพื้นที่และการประชาสัมพันธ์โครงการฯ ก็ใช้งบประมาณไปกว่า 1,800 ล้านบาทแล้ว และยังมีข้อสังเกตว่าการออกมาประกาศความเหมาะสมของพื้นที่ก็เพื่อที่จะดึงเอางบประมาณเพิ่มเติมอีกกว่า 1,200 ล้านบาทมาใช้ ” นายวิฑูรย์กล่าว

.

นายจรูญ เซรัมย์ ชาวบ้านจากตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นเขตพื้นที่หนึ่งที่ถูกกำหนดความเหมาะสมในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้สะท้อนความคิดเห็นต่อการที่จะมีโครงการฯในพื้นที่ว่า

.

“ที่ผ่านมาพอจะรู้ข่าวเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะมาตั้งอยู่ใกล้บ้านอยู่บ้าง ซึ่งไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะว่าผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือพืชนั้น ซึ่งมองไปถึงความเป็นวิถีชีวิตที่ดีงามของชุมชน เมื่อโครงการมันมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าหากจะมีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

.

นายนิด ต่อทุน แกนนำชาวบ้านจากเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ต้นน้ำเซิน (คอซ.) ได้กล่าวว่า “เมื่อรับรู้ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ถึงขั้นทำให้เกิดความพิกลพิการนั้น จึงไม่อยากให้มีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อีกทั้งโครงการนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ให้กับนายทุนและผู้ที่มีส่วนได้รับผลประโยชน์เท่านั้น แต่ชาวบ้านกลับต้องมาเสียสละและแบกรับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น”

.

ในส่วนของนายบุญเลี้ยง โยทะกา แกนนำชาวบ้านกลุ่มคณะกรรมการชาวบ้านคัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้า ได้แสดงความคิดเห็นผ่านประสบการณ์ขอนตนเองที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแนวสายส่งไฟฟ้ามาแล้วถึงสองครั้งว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ถูกปิดบังข้อมูลในการดำเนินโครงการแนวสายส่ง กว่าจะมารู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว

.

จึงอยากจะฝากไปถึงพี่น้องทุกๆ คนเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าให้ช่วยกันเฝ้าระวังถึงการลักลอบดำเนินการของภาครัฐที่มักปกปิดข้อเท็จจริงต่อประชาชน ซึ่งตนก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังถูกผลักดันภายใต้ผลประโยชน์มหาศาล

.

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “การจัดเวทีในวันนี้ก็เพื่ออยากจะเสนอ และผลักดันให้มีการศึกษาถึงสถานการณ์การใช้พลังงานในสังคมไทยอย่างรอบด้านก่อนที่จะมีการตัดสินใจในการดำเนินการอย่างใด

.

โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านให้มาก เพราะเป็นห่วงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของคนในพื้นที่ในอนาคตข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีคนในชุมชนเดียวกันที่มีแนวความคิดทั้งสนับสนุนและคัดค้านโครงการฯ อีกทั้ง เนื่องจากว่า ณ ปัจจุบันนี้สังคมไทยก็ขัดแย้งกันมากพอแล้ว” นายสุวิทย์กล่าว

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท