ก.ล.ต. สนับสนุนให้ตลาดทุนมีหลักทรัพย์ที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกการลงทุน ซึ่งการลงทุน ในหลักทรัพย์ต่างประเทศจัดเป็นช่องทางหนึ่ง โดยล่าสุดได้ออกประกาศเพื่อรองรับการนำกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศมาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านกองทุนรวมอีทีเอฟในประเทศไทย (Thai ETF on Foreign ETF) |
. |
ประกาศดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553กองทุนรวมอีทีเอฟ (“กองทุนรวม”) เพื่อลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศจัดเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (กอง FIF) ประเภทหนึ่ง |
. |
โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้กองทุนรวมต้องลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศ (foreign ETF) ที่ไม่ซับซ้อน และต้องมีการบริหารจัดการในลักษณะเชิงรับ กล่าวคือ ไม่ใช้ดุลยพินิจในการลงทุน และควรลงทุนเกือบทั้งหมดใน foreign ETF เพื่อให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ foreign ETF มากที่สุด |
. |
นอกจากนี้ กองทุนรวมประเภทนี้จะมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริษัทจัดการจึงต้องเปิดเผยความเสี่ยงและนโยบายการป้องกันความเสี่ยงอย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวน รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลความเคลื่อนไหวของมูลค่าทรัพย์สินของ foreign ETF และข้อมูลความคลาดเคลื่อนในการลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถรู้และใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจ |
. |
พร้อมกันนี้ ได้มีการขยายหน้าที่ของผู้ดูแลสภาพคล่องให้สามารถทำหน้าที่เพื่อให้ราคาซื้อขายกองทุนรวมในตลาดรองสะท้อนมูลค่า foreign ETF ที่อ้างอิงได้ |
. |
นอกเหนือจากการที่กอง FIF ไปลงทุนใน Foreign ETF แล้ว กอง FIF ยังสามารถลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินต่างประเทศอื่นๆ ได้เช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไปที่ลงทุนในประเทศอีกด้วย โดยหากต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ กอง FIF สามารถลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITs (Real Estate Investment Trust) ในต่างประเทศได้ |
. |
ส่วนการลงทุนตรงในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ นั้น ขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดและจัดทำหลักเกณฑ์ การจัดตั้งและจัดการ REITs ในประเทศ รวมถึงความเป็นไปได้ในการลงทุนตรงในอสังหาริมทรัพย์ ในต่างประเทศด้วย รวมทั้งหลักเกณฑ์ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน การพัฒนาหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนอีกด้วย |