นักวิจัย ม.อ. ประดิษฐ์เครื่องมือกำจัดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือแก๊สไข่เน่าในแก๊สชีวภาพที่ผลิตจากฟาร์มสุกร ให้แก๊สมีความเข้มข้นต่ำ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ และสามารถใช้แก๊สชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2552 |
. |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทิมา ชั่งสิริพร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานมีการสนับสนุนให้เกษตรกรจัดสร้างระบบบำบัดของเสียและน้ำเสียในรูปแบบที่สามารถเปลี่ยนให้เป็นพลังงานในรูปของแก๊สชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เร่งดำเนินการหาแหล่งพลังงานทดแทน ซึ่งรวมทั้งเกษตรกรที่ทำฟาร์มสุกรด้วย |
. |
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าฟาร์มสุกรที่มีการจัดสร้างระบบแก๊สชีวภาพหลายแห่งยังไม่สามารถนำแก๊สชีวภาพที่ผลิตได้ ไปใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีความเข้มข้นของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือแก๊สไข่เน่าสูง ทำให้เกิดการกัดกร่อน |
. |
ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะผู้ทำวิจัย ที่ประกอบด้วย นางสาวนิรัติศัย รักมาก และนางจรรยา อินทมณี จึงได้คิดค้นชุดเครื่องมือกำจัดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ในก๊าซชีวภาพ ที่ผลิตจากฟาร์มสุกรให้มีความเข้มข้นต่ำ เพื่อให้สามารถนำแก๊สชีวภาพที่ผลิตได้ไปใช้เป็นพลังงานทดแทนกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในฟาร์มสุกร |
. |
สำหรับชุดเครื่องมือกำจัดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์นี้ ได้ใช้ตัวเร่งปฎิกริยาชนิดเฟอร์ริกไอออน ที่ถูกจัดเตรียมขึ้นจากเทคนิคโซล-เจล แล้วนำมาเคลือบเป็นฟิล์มบางบนวัสดุเซรามิก เพื่อนำตัวเร่งปฎิกิริยาที่ได้มาประกอบ โดยจุดเด่นของอุปกรณ์นี้ จะใช้หลักการทำงานร่วมกันของหอดูดซึมที่ทำการดูดซึมแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในหอดูดซึมอย่างต่อเนื่อง |
. |
ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้มีความเสถียรและสามารถฟื้นฟูสภาพได้โดยใช้ออกซิเจนในอากาศ ทำให้ได้ระบบที่มีประสิทธิภาพสูง มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่ำ สามารถแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ไม่เต็มที่ของแก๊สชีวภาพที่ผลิตขึ้นจากมูลสุกรในการใช้เป็นพลังงานทดแทน ที่เกิดจากการปนเปื้อนของไฮโดรเจนซัลไฟด์ได้ |
. |
ทั้งนี้ ชุดเครื่องมือดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ทำฟาร์มสุกร สามารถผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า สารไฮโดรเจนซัลไฟด์จะเข้าไปทำให้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำก๊าซชีวภาพไปใช้ประโยชน์ได้รับความเสียหายจากการใช้งานอีกต่อไป ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบำรุงเครื่องจักร และทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรยาวนานขึ้น |
. |
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการฟาร์มสุกร ยังสามารถนำกากชีวมวลที่ผ่านจากการหมักแก๊สชีวภาพในถังหมัก ไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดใช้ปุ๋ยเคมีและลดค่าใช้จ่ายในทำเกษตรได้อีกทางหนึ่งด้วย |
. |
“จากความสำเร็จของชุดเครื่องมือวิจัยในครั้งนี้ ทำให้ผลงานชุดเครื่องมือกำจัดแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2552 ที่ผ่านมา และยังสามารถนำไปใช้ได้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบการที่ทำฟาร์มสุกร สามารถนำมูลสุกรที่เป็นของเสียมาก่อให้ประโยชน์ได้สูงสุด และช่วยสร้างรายได้และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการลงได้” ผศ.ดร.จันทิมา กล่าว |