เนื้อหาวันที่ : 2007-01-24 16:43:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2322 views

แผนยกระดับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยสู่เวทีโลก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกร่างแผนที่นำทางแห่งชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และองค์การความร่วมมือทางวิชาการแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (German Technical Cooperation; GTZ) ยกร่างการจัดทำแผนที่นำทางแห่งชาติระยะ 5 ปี ในการพัฒนาอุตสาหกรรมย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อประกาศแนวทางดำเนินงานเชิงรุกภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเข้มแข็งที่จะผลักดันให้ประเทศไทยครองความเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาค

.

นาย ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สนช. ได้มุ่งเน้นในการพัฒนานวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ในสาขาธุรกิจชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพหรือ BIOPLASTICS ซึ่งมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูงมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพจากวัตถุดิบทางธรรมชาติของประเทศ อาทิ มันสำปะหลังหรืออ้อย ทั้งนี้คณะอนุกรรมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และที่ประชุมคณะทำงานสำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ตามนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต โดยแผนดังกล่าวจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนที่นำทางดังกล่าวในระยะเวลา 5 ปี (2550 – 2554) เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติในการเร่งสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมพลาสติกได้อย่างก้าวกระโดดแล้วยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ

.

ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หากรัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายและมาตรการในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการดำเนินตามแผนที่นำทางนี้ในระยะ 5 ปี ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ 1) เชิงเทคโนโลยี ซึ่งได้แก่การมีเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพของประเทศและเกิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ โดยอาจมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 500 ล้านบาท 2) เชิงธุรกิจอุตสาหกรรม ได้แก่ การเกิดธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าการลงทุนถึง 3,000 ล้านบาท และทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์สูงถึง 1,500 ล้านบาท และ 3) เชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นถึงการตระหนักถึงการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกิดค่านิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์ และ ลดปัญหาขยะพลาสติก หรือปัญหาที่เกิดจากมลพิษในการเผาขยะที่ย่อยสลายไม่ได้สูงถึง 500 ล้านบาท

.

การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพนับเป็นมิติใหม่ของการใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการนวัตกรรมมากำหนดแนวทางการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่สำคัญของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นธุรกิจนวัตกรรมซึ่งสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ กลยุทธ์การดำเนินงาน 4 ด้านหลักในแผนที่นำทางแห่งชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ประกอบด้วย การสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบมันสำปะหลัง การเร่งรัดสร้างเทคโนโลยีของประเทศจากการวิจัยและพัฒนาแบบมุ่งเป้า การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ระดับต้นน้ำและปลายน้ำ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านภาษี รวมทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการทดสอบ

.

การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพนับเป็นมิติใหม่ของการใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการนวัตกรรมมากำหนดแนวทางการสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่สำคัญของประเทศ ซึ่งนอกจากจะเป็นธุรกิจนวัตกรรมซึ่งสร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ กลยุทธ์การดำเนินงาน 4 ด้านหลักในแผนที่นำทางแห่งชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ประกอบด้วย การสร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบมันสำปะหลัง การเร่งรัดสร้างเทคโนโลยีของประเทศจากการวิจัยและพัฒนาแบบมุ่งเป้า การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพตั้งแต่ระดับต้นน้ำและปลายน้ำ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านภาษี รวมทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการทดสอบ

.

พลาสติกชีวภาพเป็นนวัตกรรมด้านวัสดุใหม่ของโลกที่ผลิตขึ้นได้โดยใช้วัตถุดิบจากพืช เช่น แป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพด หรือน้ำตาล มาเปลี่ยนให้เป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพด้วยเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง และสามารถขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกนานาชนิด เช่น บรรจุภัณฑ์ ภาชนะ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น โดยมีคุณสมบัติเด่นที่สำคัญ คือ เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สร้างขึ้นใหม่ได้ (Renewable resources) และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ (biodegradable) ดังนั้น พลาสติกชีวภาพจึงนับว่าเป็นนวัตกรรมสำคัญที่สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมเกษตรให้เป็นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกปัจจุบัน ซึ่งย่อยสลายยากและก่อให้เกิดปัญหาขยะล้นโลก

.

ปัจจุบัน ปริมาณการใช้และแนวโน้มการเติบโตของตลาดพลาสติกชีวภาพของโลกอยู่ในระดับสูงมาก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตด้านการตลาดในระยะ 1-2 ปี ที่ผ่านมาอย่างรวดเร็วประมาณร้อยละ 50 โดยมีปริมาณความต้องการของตลาดโลกสูงถึง 500,000 ตันต่อปี สนช. ได้ประเมินและวิเคราะห์จุดแข็งและศักยภาพของประเทศไทย ในด้านความพร้อมของการผลิตมันสำปะหลังได้ปีละ 20 ล้านตัน เพื่อนำไปผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลังคุณภาพดี สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบที่มีความเหมาะสมต่อการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพระดับต้นน้ำในราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก