เนื้อหาวันที่ : 2010-03-23 10:19:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 615 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 23 มี.ค. 2553

1. ส่งออกชิ้นส่วนรถ 2 เดือนแรกปี 53 โตร้อยละ 68.0

-  อุปนายกฝ่ายพัฒนาการส่งออกและงานแสดงสินค้า สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เผยว่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ 2 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวร้อยละ 68.0 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1,245 ล้านดอลลาร์ โดยตลาดส่งออกรายใหญ่ของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนามและอินเดีย ตามลำดับ

.

ซึ่งบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยได้รับการตอบรับอย่างดีจากต่างประเทศ อีกทั้งช่วงนี้มีปัจจัยบวกหลายประการ ทั้งการเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพ การเกิดขึ้นของโครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ และการเริ่มใช้เขตการค้าเสรีอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 ที่ผ่านมา

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกยานยนต์ในเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ร้อยละ 89.0 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 45.3 ต่อปี อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากต่างประเทศตามการฟื้นตัวประเทศคู่ค้า

.

นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกันจากการจัดงานแสดงสินค้าที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. 53 ทำให้คาดว่าจะส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ล่าสุดเดือนม.ค. 53 ผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 48.7 ต่อปี 

.
2. วิกฤตน้ำตาลโลกขาดแคลน ส่งผลดีต่อการส่งออกน้ำตาลไทยและบราซิล

-  เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเผย วิกฤตน้ำตาลโลกลุกลามหลายประเทศผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภค เนื่องจากทั่วโลกเผชิญปัญหาจากภัยธรรมชาติ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง

.

ส่งผลให้หลายประเทศสั่งนำเข้าน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบจากประเทศบราซิลและประเทศไทยในจำนวนที่มากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย  จีน และอินเดีย มีการนำเข้าน้ำตาลจำนวน 3.6,  2.2, 1.1 และ 4.5  ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้  คาดว่าปีนี้ผลผลิตอ้อยของไทยจะอยู่ที่ 67-69 ล้านตัน และผลิตน้ำตาลได้เพียง 6.7-6.9 ล้านตัน

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ผลผลิตน้ำตาลของโลกไม่เพียงพอกับการบริโภค จะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกน้ำตาลไทยให้ส่งออกได้มากขึ้น โดยราคาน้ำตาลในตลาดโลกล่าสุด ณ ก.พ. 53 ยังคงขยายตัวในระดับสูงอยู่ที่ร้อยละ 104.4 ต่อปี 

.

อย่างไรก็ตาม สศค.คาดว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับการเก็งกำไรและการเร่งการผลิตจากแรงจูงใจด้านราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตอ้อยของบราซิลในฤดูผลิตใหม่ปี 2553/2554 ที่จะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2553 คาดว่าจะมากกว่าปี 2552 ประมาณ 10%

.

3.สแตนดาร์ด ชาเตอร์ด เผยอินเดียเร่งการค้ากับอาเซียน

-  หัวหน้าฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เผยว่ามีความเป็นไปได้ว่าอินเดียกำลังจะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่จะรองรับสินค้าจากประเทศอาเซียนแทนจีน โดยดูจากแนวโน้มมูลค่าการส่งออกสินค้าไปสู่อินเดียของประเทศอาเซียน 6 ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม มีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่าการส่งออกไปยังจีน ถึงแม้จะมีฐานที่ต่ำกว่า

.

โดยการส่งออกไปยังอินเดียใน 10 ปีที่ผ่านมาขยายตัวสูงมากกว่า 6 เท่า จากการเติบโตของอุปสงค์ต่อสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อใช้ในการบริโภคภายในประเทศของอินเดีย ซึ่งต่างจากจีนที่นำเข้าสินค้าเพื่อผลิตและส่งออกต่อถึงกว่าครึ่งของมูลค่าการนำเข้า 

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ตลาดส่งออกใหญ่ของอาเซียนค่อยๆ โยกย้ายจากจีนมายังอินเดียนั้น เป็นเพราะว่าจีนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจนสามารถผลิตสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปได้ จึงลดการพึ่งพาการนำเข้าลง

.

ในขณะเดียวกัน จีนก็มีการเร่งส่งออกสินค้ามายังอาเซียน โดยมีข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เป็นแรงส่ง ในขณะที่อินเดียยังขาดแคลนอุปทานที่จะมาสนองอุปสงค์ในประเทศ โดยในปี 52 ไทยเกินดุลการค้ากับอินเดียถึง 1,496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

ในขณะที่ขาดดุลการค้ากับจีนกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม จีนและอินเดียล้วนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก การส่งออกของอาเซียนรวมทั้งไทยจึงควรเน้นนโยบายที่แตกต่างกันในการส่งออกไปยังแต่ละประเทศ โดยเน้นการส่งออกสินค้าสำเร็จที่เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจในประเทศให้มากที่สุด เพื่อลดการขาดดุลการค้า และทำให้การส่งออกสุทธิขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง