เนื้อหาวันที่ : 2010-03-22 10:20:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 631 views

"ส่งออก" ปลื้มผลตอบรับ SR Mark ดันการทำคอนเทรคฟาร์มมิ่งเพิ่มขึ้น

กรมส่งเสริมการส่งออก ปลื้มผลตอบรับการจัดโครงการมอบ SR Mark ปีที่ 2 มีกลุ่มธุรกิจที่แตกต่างจากปีแรกพร้อมใจกันสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ ด้านผู้ประกอบการที่เคยได้รับในปีแรกต่างก็เดินหน้าสมัครต่อในปีที่ 2 พร้อมทั้งขยายพื้นที่การทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพิ่มขึ้น

.

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า จากการที่กรมส่งเสริมการส่งออกได้ประกาศรับสมัครผู้ประกอบการที่ทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Contract Farming) มากกว่าร้อยละ 50 ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตแต่ละครั้ง เพื่อรับตราสัญลักษณ์ SR Mark (Social Responsibility Mark)

.

โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 2 เมษายนนั้น ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่เป็นที่น่าพอใจ มีผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินเค้าเกษตรหลากหลายกลุ่มสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ อาทิ ไก่ ถั่วเหลือง ข้าว สับปะรด ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดอ่อน รวมทั้งผักและผลไม้อีกหลายชนิด

.

ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะจะช่วยให้เกษตรกรหลายกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการมีรายได้ที่แน่นอนในราคาที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับตราสัญลักษณ์ในปีที่ผ่านมาต่างก็พร้อมใจกันสมัครต่อในปีที่ 2 อาทิ บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท เถกิงอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง จำกัด เป็นต้น

.

“บริษัทที่ได้รับ SR Mark จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ ของกรมส่งเสริมการส่งออก ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในการเข้าร่วมกิจกรรมของกรมฯ

.

อาทิ การสัมมนา การอบรม การเข้าร่วมโครงการคณะผู้แทนการค้าเจรจาธุรกิจในประเทศและต่างประเทศ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ผู้ประกอบการที่ได้รับ SR Mark จะได้สิทธิในการใช้ตราสัญลักษณ์เป็นเวลา 2 ปี จากเดิมที่อนุญาตให้ใช้เพียง 1 ปีเท่านั้น” นางศรีรัตน์กล่าว

.

นายภัทร ตะนังสูงเนิน ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลในการสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ SR Mark ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ว่า SR Mark ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทฯ

.

โดยเฉพาะในช่วงนี้ บริษัทฯ กำลังจะขยายฐานเกษตรกรเพื่อทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพิ่มขึ้น การที่บริษัทฯ ได้รับ SR Mark ก็จะสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร เพราะเป็นตราสัญลักษณ์ที่ได้จากภาครัฐ คือ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์

.

“ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ามูลค่า 320 ล้านบาทต่อปี แต่ในปีนี้บริษัทฯ จะเพิ่มอีก 10-15% เป็น 350-400 ล้านบาทต่อปี และจะขยายพื้นที่เป็น 33,000 ไร่ ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรกรล่วงหน้าทำให้บริษัทฯ บอกความต้องการกับเกษตรกรได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

.

วิธีนี้จะช่วยให้เกษตรกรลดความสูญเสียผลผลิต เพราะปกติพ่อค้าคนกลางจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรแล้วใช้วิธีคัดผลผลิตที่ไม่ตรงกับความต้องการออก แต่การที่บริษัทฯ ได้บอกคุณสมบัติของผลผลิตที่ต้องการกับเกษตรกร จะทำให้เกษตรกรควบคุมดูแลให้ได้ผลผลิตที่ตรงกับความต้องการของบริษัทฯ วัตถุดิบที่สูญเสียจึงมีน้อย” นายภัทร กล่าว

.

นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า หากยังมีการมอบตราสัญลักษณ์ SR Mark ต่อไป บริษัทฯ ก็จะสมัครต่อเช่นกัน เนื่องจากตราสัญลักษณ์นี้ช่วยในการทำตลาดได้มาก เมื่อบอกให้คู่ค้าทราบว่าบริษัทฯ ได้รับ SR Mark ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

.

คู่ค้าโดยเฉพาะยุโรปและญี่ปุ่นจะให้ความสนใจ เพราะนอกเหนือจากคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าแล้ว ประเทศเหล่านี้จะใส่ใจเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม คู่ค้าจะเปรียบเทียบว่าถ้าคุณภาพและราคาไม่ต่างกัน บริษัทฯ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจะได้เปรียบกว่า

.

“จากเดิมที่บริษัทฯ ประชาสัมพันธ์การได้รับ SR Mark ทางวิดีโอพรีเซ็นเทชั่น และบอกเล่าให้คู่ค้าทราบ ในปีนี้บริษัทฯ จะทำตราสัญลักษณ์ SR Mark ติดลงบนบรรจุภัณฑ์ด้วย เพื่อให้คู่ค้าทราบมากขึ้น และในปีนี้ บริษัทฯ จะเพิ่มพื้นที่การทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าอีก 20% จาก 3,500 ไร่ เป็น 4,200 ไร่

.

โดยเพิ่มพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี 200 ไร่ และอุทัยธานี 500 ไร่ นอกจากนี้ยังเตรียมพัฒนาเมล็ดพันธุ์พริกชนิดเชอรี่เพ็พเพอร์ (Cherry Pepper) เพื่อให้เกษตรกรปลูกเพื่อที่จะทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วย” นายเทียนชัย กล่าว