เนื้อหาวันที่ : 2010-03-22 10:07:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 562 views

รายงานเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 15-19 มี.ค. 2553

รายได้รัฐบาลสุทธิประจำเดือน ก.พ.53 จัดเก็บได้สุทธิ 97.4 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายได้ 19.4 พันล้านบาทหรือร้อยละ 25.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 ส่งผลให้รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 เท่ากับ 558.7 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 107.2 พันล้านบาท ซึ่งผลการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าเป้าหมายในเดือน ก.พ. 53

.

มีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และรถยนต์ ที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 22.2 55.9 และ 76.9 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ รายได้สุทธิของ 3 กรมจัดเก็บรายได้ในเดือน ก.พ. 53 เท่ากับ 111.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.1 ต่อปี โดยภาษีฐานรายได้หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี และภาษีฐานบริโภคขยายตัวที่ร้อยละ 29.8 ต่อปี ตามลำดับ

.

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ (หักอัตราเงินเฟ้อ) ในเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ระดับ  37,913 ล้านบาท จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 41,302 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 26.7  ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.6 ต่อปี (ถือเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 หลังจากหดตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือน พ.ย.51 เป็นต้นมา) 

.

ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนการบริโภคในประเทศ และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่จัดเก็บจากมูลค่าการนำเข้าสินค้า ที่ขยายตัวร้อยละ 12.7 และ 52.6 ต่อปี

.

โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) ปัจจัยฐานต่ำเมื่อปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว (ในช่วงครึ่งแรกของปี 52เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ร้อยละ -6.0 ต่อปี) 2)  เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนได้จากการผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการส่งออกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และ 3) รายได้ภาคชนบทปรับตัวดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น

.

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวร้อยละ 39.2 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28.9 ต่อปี ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และผลของการเร่งการทำธุรกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภค และภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือน มี.ค. 53

.

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 26.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 37.2 ต่อปี (แต่ถือได้ว่ายังคงขยายตัวในระดับสูง และเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน)  โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 

.

1) รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก   และ 2) ภาครัฐปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.53 เป็นต้นไป ส่งผลให้ภาคครัวเรือนยังคงมีรายได้เพิ่มขึ้น

.

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 57.3 ต่อปี เร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 53.2 ต่อปี ซึ่งขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน เนื่องจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และภาคการส่งออก ที่เริ่มกลับเข้าสู่ระดับเดิมก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่แล้ว 2)

.

รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  และ 3) ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่ มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

.

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ.  53 ขยายตัวที่ร้อยละ 58.0 ต่อปี เร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 55.4 ต่อปี จากการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถปิคอัพ และรถบรรทุกขนาด 2 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 57.6 และ 39.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 54.7 และ 44.1 ต่อปี ตามลำดับ

.

ตามสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์และอุปทานในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง