1. รัฐบาลฮ่องกงห้ามนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย เหตุปัญหาผู้ชุมนุม |
- รัฐบาลฮ่องกงได้ห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย โดยเพิ่มการแนะนำการท่องเที่ยว (Travel Advisory) จากระดับ 4 ขึ้นเป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จนถึงวันที่ 23 มี.ค.นี้ ส่วนภาพรวมจำนวนประเทศที่ออกคำแนะนำนักท่องเที่ยวยังคงอยู่ที่ 38 ประเทศเท่าเดิม ส่วนใหญ่เป็นการแนะนำระดับ 2 และ 3 คือ ให้ติดตามข่าวสารและหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุม |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่าการห้ามนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยของรัฐบาลฮ่องกงเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 23 มี.ค. นี้ โดยหากสถานการณ์การชุมนุมในประเทศสามารถไม่รุนแรงและสามารถคลี่คลายไปได้อย่างรวดเร็วก็จะไม่มีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวโดยรวม |
. |
อย่างไรก็ตามก็ออกมาตรการดังกล่าวจากรัฐบาลต่างประเทศถือเป็นสัญญาณเตือนว่าปัญหาการเมืองและผู้ชุมนุมยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทย รวมถึงเศรษฐกิจภาคอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ภาคการค้าปลีก และภาคคมนาคมขนส่งภายในและภายนอกประเทศ |
. |
2. ตลท.ระบุว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งและ FED คงดอกเบี้ยยังคงหนุนให้หุ้นขึ้น |
- กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยว่าปัจจัยภายนอกที่เอื้ออำนวยจากสภาพคล่องในตลาดทุนที่ยังอยู่ในระดับที่สูงและธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางสหรัฐ และภาวะหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ได้ส่งผลให้นักลงทุนต้องมองหาช่องทางใหม่ในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ |
. |
โดยนักลงทุนมองว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง และภาพรวมที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มการทำกำไรในอนาคตที่พิจารณาจาก Forward P/E (อัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นปัจจุบันต่อกำไรคาดการณ์ต่อหุ้น) ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแทบทุกภาคเศรษฐกิจและเสถียรภาพเศรษฐกิจจากระดับเงินทุนสำรองที่ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหนี้ระยะสั้นกว่า 5 เท่าและระดับหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ภายในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค.ที่ร้อยละ 43.85 ของ GDP ยังบ่งชี้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยนั้นแข็งแกร่ง ทั้งนี้ เงินทุนที่ไหลเข้าประเทศไทยจากทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร |
. |
ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะเกินดุลอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน ก.พ.และ มี.ค.ยังคงเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทในวันที่ 18 มี.ค.53 แข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นประมาณ 0.6 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนับจากช่วงต้นเดือน มี.ค. 53 |
. |
3. สภา Congress สหรัฐฯอนุมัติ jobs bill เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน |
- สภา Congress ของสหรัฐฯได้อนุมัติ jobs bill มูลค่า 17.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยแผนงานที่จะช่วยกระตุ้นการจ้างงานผ่านการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ โดยแผนดังกล่าวคือ 1) เจ้าของธุรกิจ หรือบริษัทไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษี Social Security payroll ของลูกจ้างใหม่ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้ว่างงานมาไม่ต่ำกว่า 60 วันก่อนที่จะถูกจ้างงาน |
. |
2) หากมีการจ้างงานลูกจ้างดังกล่าวเกิน 1 ปี เจ้าของธุรกิจ หรือบริษัทสามารถรับภาษีคืนคิดเป็นร้อยละ 6.2 ของอัตราค่าจ้าง หรือไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อลูกจ้าง 1 คน โดยมาตรการดังกล่าวไม่จำกัดขนาดของธุรกิจและจำนวนของลูกจ้างใหม่ |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า แผนการดังกล่าวถือเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงเวลานี้ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือน ก.พ. 53 ที่ผ่านมาบ่งชี้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่ดีเท่าใดนัก โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46 จากระดับ 56.5 |
. |
ในขณะที่ตำแหน่งว่างงานไม่รวมภาคเกษตร (Non-Farm payroll) ลดลง -36 ตำแหน่ง จาก -26 ตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า และอัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 9.7 จากแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯยังคงทรงตัว บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจอาจจะยังไม่มีการขยายตัวในระยะยาว |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |