เนื้อหาวันที่ : 2010-03-18 09:48:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 584 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 18 ม.ค. 2553

1. BOI มั่นใจต่างประเทศลงทุนในไทยดันยอดส่งเสริมกว่า 5 แสนล้านบาท

- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การเมืองของไทยจะร้อนแรง แต่นักลงทุนต่างประเทศยังเชื่อมั่นว่า เหตุการณ์จะไม่ยืดเยื้อและกลับมาเป็นปรกติโดยเร็ว ที่ผ่านมาการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีถึง 7.2 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ 4 แสนล้านบาท จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น จึงเชื่อมั่นว่าในปีนี้การขอบีโอไอจะไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบด้านการเมืองน่าจะเป็นเพียงระยะสั้น นักลงทุนต่างประเทศยังคงมีความเชื่อมั่นว่าการชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในเดือน มค. 53 เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ +32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปริมาณเงินลงทุนเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ +381.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

.

โดยประเทศที่ยื่นขอสุงสุด คือ ญี่ปุ่น 31 โครงการ รองลงมา คือ สิงค์โปร 8 โครงการ เดนมาร์ก 4 โครงการ ไต้หวัน 3 โครงการ และออสเตรเลีย 2 โครงการ ในปี 53

.

โครงการที่ได้รับอนุมัติในเดือน มค.53 มีจำนวน 49 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.1 ของจำนวนโครงการทั้งสิ้นที่ได้รับอนุมัติ (111 โครงการ) มีปริมาณเงินลงทุน 15,548 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.9 ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้นที่ได้รับการอนุมัติ (36,265 ล้านบาท) โดยประเภทกิจการที่นักลงทุนยื่นขอสูงสุด คือ กิจการบริการและสาธารณูปโภค

.

2. ธนาคารแห่งประเทศไทยแจงสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง

- รองผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าในระยะ 1-2 วันนี้ เป็นผลมาจากเงินทุนไหลเข้าและผู้ส่งออกมีความต้องการเงินบาทมากขึ้น แต่การเคลื่อนไหวของเงินบาทยังสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ส่วนสถานการณ์การเมืองของไทยมองว่าตลาดรับรู้แล้ว เริ่มคลี่คลายทำให้เงินไหลเข้าไทยอีก

.

ขณะนี้ ตลาดเงินระยะสั้น ตลาดพันธบัตร และตลาดดอกเบี้ย ยังทำงานปกติ ส่วนเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ก็ไหลเข้ามาตามศักยภาพเศรษฐกิจไทยซึ่งฟื้นตัวเร็วกว่ายุโรปและสหรัฐฯ ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทำให้ไทยจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยก่อน

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตลอดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จากระดับ 33.12 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ณ วันที่ 17 ก.พ. 53 มาสู่ระดับ 32.36 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.3 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับค่าเงินประเทศคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญทั้งค่าเงิน หยวน วอน ดอลล่าร์สิงคโปร์ และ เปโซ ล้วนแข็งค่าน้อยกว่าที่ร้อยละ 0.1 1.1 0.9 1.0 ตามลำดับ

.

ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ ดังนั้นจำเป็นต้องบริหารจัดการเพื่อให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศไทย

.
3. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เพียงพอต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

- สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.25 ต่อไป  แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีการขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าทั้งปี 

.

ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 53 ได้ลดลงสู่ระดับร้อยละ 9.7 ต่ำกว่าในเดือน ต.ค. 52 ที่มีอัตราสูงสุดในรอบ 26 ปี ที่ระดับร้อยละ 10.1  อย่างไรก็ดี สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงไม่ชัดเจนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย  ตราบใดที่การจ้างงานและการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เพิ่มขึ้น

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินหลังจากการปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 52 มาขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าทั้งปี (%qoq saar) เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่ประกาศไว้ที่ร้อยละ 5.7% qoq saar ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกของปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

.

จากตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือน ม.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ต่อเดือน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อเดือน อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ในตอนนี้อาจเร็วเกินไป  เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงเปราะบางจากอัตราการว่างงานของสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.7 ติดต่อกัน 2 เดือน และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ฟื้นตัว