ปลัดกระทรวงแรงงาน ย้ำ การขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แนะนายจ้างสร้างแรงจูงใจเรียกแรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน พร้อมระดมทุกหน่วยงานในสังกัดแก้ปัญหา |
. |
นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ออกมาเปิดเผยความต้องการแรงงานที่สูงกว่า 300,000 อัตรา ว่า การขาดแคลนแรงงานไม่ได้เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากตัวชี้วัดผลดำเนินงานหลัก(เคพีไอ)และสภาพของประเทศไทยด้วย เนื่องจากอัตราการเกิดลดลง แต่ความต้องการแรงงานสูงขึ้น |
. |
ซึ่งความต้องการแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานระดับกลาง หรือผู้ปฏิบัติงาน ที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงระดับอาชีวศึกษา แต่การศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบันมุ่งที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตลาดงานของกลุ่มนี้มีไม่มาก ดังนั้นหากนายจ้างต้องการแรงงานเข้ามาปฏิบัติงานก็ต้องปรับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นตามระดับความสามารถด้วย |
. |
เนื่องจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไปในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีอายุมากตามไปด้วย จึงไม่ต้องการเริ่มนับหนึ่งในการรับอัตราเงินเดือน ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการระดมบุคลากรทุกกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานเข้าร่วม โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)เป็นผู้สำรวจตัวเลขการว่างงานในพื้นที่ |
. |
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)สำรวจความต้องการของนายจ้าง และนำข้อมูลมาประมวลร่วมกัน เพื่อป้อนบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ แต่หากยังขาดแคลนอยู่หรือความสามารถของผู้ว่างงานไม่ตรงกับความต้องการกพร.จะเป็นผู้ยกระดับความรู้ความสามารถให้ตรงกับความต้องการ |
. |
นางสาวส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากการส่งแบบสำรวจให้กับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.พบว่า มีความต้องการจ้างงานเพียง 12,788 อัตรา ใน 19 กลุ่มอาชีพ อาทิ ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากยางพารา สิ่งทอ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ |
. |
ซึ่งตัวเลขที่ ส.อ.ท.ออกมาเปิดเผยนั้น เข้าใจว่าเป็นความต้องการแรงงานตลอดทั้งปี ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการสร้างแรงจูงใจทั้งในเรื่องอัตราค่าจ้างและความมั่นคงของงาน เพื่อดึงแรงงานกลับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม |
. |
ที่มา : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์, เว็บไซต์รัฐบาลไทย |