เนื้อหาวันที่ : 2010-03-15 17:05:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1359 views

ธรรมาภิบาลขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน

สคฝ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตาม พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เพื่อคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จำเป็นต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับธรรมาภิบาล จรรยาบรรณและข้อกำหนด เพื่อป้องกันการขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ของส่วนรวม

ธรรมาภิบาลขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน : ข้อเสนอแนะต่อระบบธรรมาภิบาลของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

.
นางสาวรุ่งทิพย์  จินดาพล
ส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก
สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
.

.

สถาบันกคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการ  

.

1) คุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน 2) เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และ3) ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

.

ในการดำเนินการเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว สคฝ. จำเป็นต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับธรรมาภิบาล จรรยาบรรณและข้อกำหนดเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานผู้อำนวยการ และคณะกรรมการของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก  เพื่อป้องกันการขัดแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานและผู้บริหารเป็นไปด้วยความโปร่งใส และสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลที่ดี (Good Governance)  

.

รวมทั้ง สอดคล้องกับ Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems ใน 5 ข้อเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาล (Governance) ที่ระบุว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากในประเทศต่าง ๆ ควรดำเนินงานด้วยความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงทางการเมืองหรืออิทธิพลของธุรกิจสถาบันการเงินและข้อ 13 ได้ระบุว่า พนักงานต้องปฏิบัติตามกฎ Conflict of interest และ Code of conduct

.

ดังนั้น ในบทความนี้ จะทำการศึกษาถึงจรรยาบรรณและระเบียบว่าการซื้อขายหลีกทรัพย์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และจรรยาบรรณและการซื้อขายหลักทรัพย์ของหน่วยงานกำกับด้านการเงินและหลักทรัพย์เฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) รวมถึงการศึกษาจรรยาบรรณของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ลงทุนในลักษณะเดียวกับ สคฝ. เช่น กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม    

.

ทั้งนี้ เนื่องจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ 3 ประการตามที่กล่าวมาแล้ว ยังทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนคุ้มครองเงินฝากโดยนำเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝากไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ด้วยเพื่อใช้ประกอบการเสนอแนะแนวทางในการกำหนดระบบธรรมาภิบาลของสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่อไป

.
จรรยาบรรณและระเบียบว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

สคฝ. ได้กำหนดจรรยาบรรณสำหรับผู้อำนวยการและพนักงาน สคฝ. วันที่ 12 ตุลาคม 2552 และระเบียบสถาบันคุ้มครองเงินฝากว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงาน พ.ศ. 2552 ให้ไว้ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2552

.

จรรยาบรรณสำหรับผู้อำนวยการและพนักงาน สคฝ. ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติตนและปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมอันจะนำมาซื่งประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานและภาพลักษณ์อันดีของ สคฝ.

.

สคฝ. ได้กำหนดเกี่ยวกับการขัดแย้งทางผลประโยชน์ไว้ โดยกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตาและเที่ยงธรรม ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจจะเป็นข้อครหาในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และเที่ยงธรรม หลีกเลี่ยงทั้งโดยตนเองหรือครอบครัวในการให้หรือรับสิ่งของ เงิน หรือประโยชน์อย่างอื่นจากบุคคลอื่นที่มีหน้าที่หรือธุรกิจเกี่ยวกับ สคฝ.รวมทั้งไม่ดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับ สคฝ.

.

นอกจากนี้ สคฝ. ยังได้กำหนดเกี่ยวกับรักษาความลับองค์กรโดยระมัดระวังมิให้เอกสารหรือข่าวสารอันเป็นความลับของสถาบันรั่วไหล หรือตกไปถึงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งรวมทั้งบุคคลภายนอก อันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ สคฝ.

.

สำหรับระเบียบว่าด้วยการซื้อหลักทรัพย์ของพนักงานำได้กำหนดให้พนักงานที่ประสงค์จะทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานถือปฏิบัติ โดยห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานในขณะที่ครอบครองข้อมูลที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนและตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือโดยการปฏิบัติหน้าที่

.

ซึ่งเป็นการกำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับการทำ Insider Trading ที่เป็นการใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบผู้อื่นและข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลของสถาบันการเงินที่พนักงานได้มีจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ เช่น ในงานที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์และติดตามฐานะของสถาบันการเงิน

.

ทั้งนี้หลักทรัพย์ที่กำหนดห้ามซื้อขายนั้น  เช่น ตราสารทุน รวมถึงตราสารอนุพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์นั้น ตราสารหนี้แต่ไม่รวมถึงหลักทรัพย์รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐโดยให้พนักงานรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่ซื้อขายหลักทรัพย์ และรายงานสถานะการถือครองหลักทรัพย์ของพนักงาน คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นไตรมาส โดยให้รายงานให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน

.

บัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ได้แก่ 1) การลงทุนในกองทุนรวม  2) การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 3) บัญชีของคู่สมรสของพนักงาน ซึ่งมีรายได้หรือทรัพย์สินเป็นของตนเองและเป็นอิสระจากพนักงาน

.

4) การลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งพนักงานไม่มีอำนาจสั่งซื้อขายหลักทรัพย์เป็นรายหลักทรัพย์ เช่น Equity ETF เป็นต้น ซึ่งการยกเว้นให้ลงทุนตาม 1) - 4) ได้นั้น เนื่องจากการซื้อขายหลักทรัพย์เหล่านี้พนักงานไม่มีส่วนในการตัดสินใจในการลงทุน จึงไม่ก่อให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์และการใช้ข้อมูลภายในเพื่อนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

.
จรรยาบรรณและการซื้อขายหลักทรัพย์ของหน่วยงานกำกับด้านการเงินและหลักทรัพย์

สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อกำหนดเกี่ยวกับจรรยาบรรณพนักงานสำนักงาน ก.ล.ต. และแนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. (Code of Governance)

.

จรรยาบรรณพนักงานสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นข้อกำหนดและแนวปฏิบัติที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปประพฤติปฏิบัติของพนักงาน และผู้ที่เคยเป็นพนักงาน ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เช่นเดียวกันกับ สคฝ. แต่ได้จำแนกการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไว้อย่างละเอียด  

.

ซึ่งมีข้อกำหนดที่เพิ่มเติมจาก สคฝ. เช่น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การรับเลี้ยงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักงาน การดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการในองค์กรอื่น และการทำงานในองค์กรอื่น เป็นต้น

.

สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการซื้อหลักทรัพย์ โดยห้ามพนักงานซื้อหลักทรัพย์บางประเภท ทั้งนี้ หลักทรัพย์ที่ห้ามพนักงานซื้อได้กำหนดไว้ในข้อบังคับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่าด้วยการพนักงาน รวมทั้งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาข้อมูลและความลับของสำนักงาน ก.ล.ต. 

.

โดยให้พนักงานระมัดระวัง รักษาข้อมูลในความรับผิดชอบ และรวมไปถึงข้อมูลสำคัญที่ได้รับทราบในการประชุมด้วย เนื่องจากเป็นข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์หรือส่งผลกระทบต่อตลาดทุนทั้งต่อการดำเนินธุรกิจหรือต่อประชาชนในวงกว้าง

.

นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีข้อปฏิบัติของอดีตพนักงาน โดยกำหนดว่า “อดีตพนักงานต้องไม่นำข้อมูลที่ไม่พึงเปิดเผยหรือนำเอกสาร ซึ่งได้รับหรือล่วงรู้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกหรือบุคคลใกล้ชิด และอดีตพนักงานซื้งพ้นจากงานขณะดำรงตำแหน่งระดับอำนวยการขึ้นไป  

.

ซึ่งได้รับทราบหรือเคยได้รับทราบข้อมูลความลับหรือข้อมูลการประกอบธุรกิจที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นผู้ที่เคยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานกำกับดูแลองค์กรต่าง ๆ ในตลาดทุนก่อนพ้นจากงานของสำนักงานพึงหลีกเลี่ยงหรือไม่เข้ารับตำแหน่งในองค์กรภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานภายหลังพ้นจากสำนักงานยังไม่ครบ 6 เดือน”

.

ส่วนกรณีของเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีข้อบัญญัติห้ามเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหลังจากการพ้นจากตำแหน่งไว้เช่นเดียวกับอดีตพนักงาน โดยตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติว่า “ภายในสองปีนับแต่วันพ้นตากตำแหน่ง เลขาธิการจะประกอบธุรกิจหรือทำงานให้แก่ผู้ประกอบการองค์กร หรือบริษัท หรือดำรงตำแหน่งในธุรกิจหลักทรัพย์

.

ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือบริษัทอื่นใดซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุนหรือสำนักงาน มิได้”

.
แนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. (Code of Governance)

สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดกรอบของธรรมาภิบาลสำหรับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ดังนี้คือ 1) ความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Accountability) 2) ความสำนึกในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและประสิทธิภาพ (Responsibility)  3) การเคารพในสิทธิและการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียอย่างเท่าเทียมกัน (Equitable Treatment)  

.

4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and Transparency) 5) การควบคุมภายในและการตรวจสอลภายใน (Internal Control and Internal Audit) และ 6) การวางกรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณ (Code of Conduct and Code of Ethics) โดยได้กำหนดขอบเขตของแนวทางธรรมาภิบาลไว้ 2 ระดับ คือ ส่วนที่ 1 องค์ประกอบของธรรมาภิบาลในระดับกรรมการ และส่วนที่ 2 ธรรมาภิบาลในระดับสำนักงาน

.

ส่วนที่ 1 องค์ประกอบของธรรมาภิบาลในระดับกรรมการ เช่น มีข้อกำหนดให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายในด้านธรรมาภิบาล ด้านจรรยาบรรณ และด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์สำหรับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานให้เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งให้จัดทำคู่มือและแนวทางปฏิบัจิในเรื่องดังกล่าวด้วย เป็นต้น

.

ทั้งนี้เพื่อให้นโยบายเป้าหมายและกลยุทธ์ของสำนักงาน การกำกับและติตามการดำเนินงานของสำนักงานการควบคุมและการตรวจสอบภายใน และการประเมินผลคณะกรรมการด้วย

.

สำหรับในส่วนที่ 2 ธรรมาภิบาลในระดับสำนักงาน เช่น ผู้บริหารระดับของสำนักงานต้องให้ความสำคัญและมีการบริหารความเสี่ยงในระดับองค์กร โดยร่วมกันพิจารณาจัดลำดับชั้นของความเสี่ยงแต่ละประเภทที่อาจมีผลกระทบต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของสำนักงานส่วนการกำกับดูแลและควบคุมการบริหารความเสี่ยง

.

ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่กำกับดูแลควบคุมการบริหารความเสี่ยงของสำนักงาน โดยเฉพาะในการปฏิบัติงานที่เป็นกิจกรรมหลักที่มีความสำคัญและมีความเสี่ยงสูง โดยให้ฝ่ายตรวจสอบภายในเข้าไปตรวจสอบกระบวนการในการบริหารความเสี่ยงตามแผนงาน รวมถึงเข้าตรวจสอบการบริหารความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่ปกติหรือเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

.
ธปท.

จรรยาบรรณพนักงาน ธปท. พ.ศ. 2539 แบ่งออกเป็น 4 หมวดเช่นเดียวกับที่ สคฝ. กำหนด โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่นหลีกเลี่ยงในการให้หรือรับสิ่งของ เงิน หรือประโยชน์อย่างอื่นจากบุคคลอื่นที่มีหน้าที่หรือธุรกิจเกี่ยวข้องกับ ธปท. เว้นแต่ในโอกาสหรือเทศกาลอันเป็นประเพณีนิยม

.

โดยจะต้องไม่มีราคามากจนเกินสมควรหรือเกินแกเหตุ และมีข้อพึงปฏิบ้ติของอดีตพนักงานเช่นเดียวกับสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวคือ อดีตพนักงาน ธปท. ในระดับบริหารในส่วนงานที่สามารถล่วงรู้ข้อมูลของกิจการสถาบันการเงินตามอำนาจหน้าที่พึงหลีกเลี่ยง ไปรับตำแหน่งในสถาบันการเงินต่าง ๆ หากได้พ้นจากงานของธนาคารยังไม่ครบ 6 เดือน

.

นอกจากนี้ ยังกำหนดห้ามมิให้ซื้อหรือรับหลักทรัพย์โดยได้สิทธิพิเศษไม่ว่าจะเป็นการได้มาจากตำแหน่งหน้าที่การงานหรือไม่ เพื่อป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำดังกล่าว รวมทั้งยังห้ามมิให้เป็นนายทุนให้กู้ยืมเงิน หรือเป็นคนกลางในการดำเนินการให้พนักงานได้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นความประพฤติในทางที่อาจทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตนและ ธปท.

.

ในส่วนของผู้ว่าการ ธปท. ตามพระราชบัญญัติ ธปท. พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้มีบทบัญญัติว่า “ผู้ว่าการซึ่งพ้นจากตำแหน่งจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงินภายในระยะเวลาสองปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง” ซึ่งเป็นบทบัญญัติเพื่อป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ และป้องกันมิให้นำเสนอข้อมูลของสถาบันการเงินที่ได้จากอำนาจหน้าที่ไปใช้เพื่อประโยชน์ในสถาบันการเงิน ดังเช่นสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีข้อกำหนดห้ามเลขาธิการไว้เช่นกัน

.
หน่วยงานที่ทำหน้าที่ลงทุนให้กับสมาชิก

หน่วยงานที่ทำหน้าที่ลงทุนใหกับสมาชิกที่จะศึกษาในบทความนี้ ได้แก่ กบข. และกองทุนประกันสังคม ทั้งนี้เนื่องจาก สคฝ. ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนคุ้มครองเงินฝากโดยนำเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝากไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ดังนั้น การศึกษาจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติด้านการลงทุนของ สคฝ. ด้วยเช่นกัน

.
กบข.

กบข. ได้ออกจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติพนักงาน กบข. และระเบียบว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

.

จรรยาบรรณและหลักปฏิบัติพนักงาน กบข. ได้กำหนดหลักการไว้ว่า “พนักงาน กบข. พึงปฏิบัติตนในลักษณะที่ดีงาม (Integrity and Dignity) ต่อสาธารณชน สมาชิก กบข. ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา และเพื่อนร่วมงาน โดยรักษาจรรยาบรรณของการดำเนินธุรกิจรวมทั้งส่งเสริมให้มีการประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติพนักงาน”

.

เช่น รักษาข้อมูลที่ถือเป็นความลับทางธุรกิจ (Confidentiality) ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในการหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือก่อให้เกิดการได้เปรียบกว่าสาธารณชน เช่น ไม่นำข้อมูลในการลงทุนไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนส่วนตัวในลักษณะซื้อขายหุ้นก่อนกองทุน (Front-running) หรือเป็นการให้ใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบผู้อื่น (Insider Trading) เป็นต้น

.

นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดจรรยาบรรณของเลขาธิการ เช่น ต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากหน้าที่ความรับผิดชอบไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม กับทั้งไม่ก่อให้เกิดความมีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับ กบข. หรือในกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับ กบข. และไม่นำความลับของ กบข. ไปใช้ในทางที่ผิด

.

ส่วนจรรยาบรรณของพนักงานมีข้อกำหนดให้หลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์และการกระทำอันไม่เป็นธรรม และไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ อันเกี่ยวกับกิจการกองทุนที่ไม่สมควรเปิดเผยแก่บุคคลอื่น เป็นต้น

.

ในส่วนของมาตรฐานการปฏิบัติงานได้กำหนดหลักปฏิบัติไว้เช่น หลักปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนของ กบข. หลักปฏิบัติในการป้องกันความขัดแย้งกันทางผลประโยชน์ (Conflict of interest) หลักปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงาน หลักปฏิบัติในการรักษาข้อมูลภายในทางธุรกิจของกองทุน และของหน่วยงานภายใน (Confidentiality) ไว้อย่างละเอียดเพื่อให้พนักงาน กบข. สามารถนำไปปฏิบัติได้เหมาะสมกับการจัดการกองทุนตามมาตรฐานสากล

.

ระเบียบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์บัญชีของพนักงาน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กบข. ได้มีข้อกำหนดให้พนักงานซึ่งประสงค์จะทำการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงานถือปฏิบัติ เช่น ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ในขณะที่ครอบครองข้อมูลที่ไม่เปิดเผยและเป็นสาระสำคัญ (Material Nonpublic Information) เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้น หรือข้อมูลที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาของหลักทรัพย์หรือต่อตลาดที่หลักทรัพย์นั้นมีการซื้อขายอยู่

.

ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างบัญชีของพนักงานกับกองทุน ไม่เข้าทำการซื้อขายหลักทรัพย์จากการตกลงรับคำเชิญชวนโดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่น่าจะมีผลประโยชน์ขัดแย้งจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานใน กบข. เป็นต้น

.

นอกจากนี้ กบข. ยังได้กำหนดข้อจำกัดในการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น พนักงานที่ต้องขออนุญาตซึ่งต้องการจะสั่งจองซื้อหลักทรัพย์ต้องขออนุญาตจากฝ่ายกำกับกิจกรรมองค์กรก่อน รวมทั้งยังกำหนดให้พนักงานที่ต้องขออนุญาตที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนงานที่ซื้อขายหลักทรัพย์ (Trading) ไม่อาจซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงานผู้นั้น หากหลักทรัพย์นั้นกำลังซื้อขายเพื่อบัญชีของ กบข. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กบข. ได้กำหนดบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นที่ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบไว้เช่นเดียวกับที่ สคฝ. กำหนดไว้

.
กองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมได้ออกจรรยาบรรณและคู่มือการปฏิบัติงานด้านการลงทุนเพื่อเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการลงทุน เพื่อให้กองทุนมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

.

กองทุนประกันสังคมได้นำจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพด้านการลงทุนของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากำหนดไว้ในจรรยาบรรณและคู่มือการปฏิบัติงานด้านการลงทุนด้วย เช่น ไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ก่อนกองทุน (Front Running) หรือซื้อขายหลักทรัพย์ใดในทิศทางตรงข้ามกับการลงทุนของกองทุน (Against Portfolio) 

.

ไม่รับหลักทรัพย์ที่เสนอขายต่อประชาชน (Public Offering) ซึ่งได้มาจากผลประโยชน์ทางหน้าที่การงานในการจัดการกองทุน เป็นต้น เพื่อให้มีข้อกำหนดที่ป้องกันมิให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์จากการปฏิบัติงาน การลงทุนของกองทุนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและไม่ก่อนให้เกิดผลเสียหายต่อกองทุน

.

กองทุนประกันสังคมได้กำหนดหลักการปฏิบัติงานด้านการลงทุนที่ดี ทั้งในระดับนโยบาย เช่น ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการประกันสังคม ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ในระดับกลั่นกรองนโยบายและสนับสนุนการปฏิบัติงาน คณะอนุกรรมการบริหารการลงทุน และในระดับปฏิบัติงาน

.

ซึ่งใน 2 ระดับแรก คือระดับนโยบายและระดับกลั่นกรองนโยบายและสนับสนุนการปฏิบัติงานได้มีข้อกำหนดให้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัติด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of interest) และข้อห้ามเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภมยใน (Insider trading) ทั้งนี้ เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลภายในจากการเป็นผู้บริหารกระทรวงหรือคณะกรรมการมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นได้

.
ตารางเปรียบเทียบข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณของหน่วยงานต่าง ๆ

.

หมายเหตุ

1 การซื้อขายหลักทรัพย์ได้รวมอยู่ในจรรยาบรรณพนักงาน ฯ ไม่ได้แยกออกระเบียบต่างหาก
2 อยู่ในนโยบายเกี่ยวกับจรรยาบรรณของคณะกรรมการในแนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. (Code of Governance) เนื่องจากเลขาธิการเป็นคณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วย

.

3 พรบ. ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้คณะกรรมการ ธปท. กำหนดข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ว่าการด้วย
4 จรรยาบรรณเลขาธิการรวมอยู่ในจรรยาบรรณพนักงาน ฯ ไม่แยกมาออกประกาศต่างหาก

.

5 ระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานให้นำมาบังคับกับผู้อำนวยการ สคฝ. ด้วยโดยอนุโลม
6 ข้อกำหนดห้ามพนักงานซื้อขายหลักทรัพย์ที่สำนังานกำกับดูแล จึงไม่มีข้อห้ามเรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) เพราะพนักงานไม่สามารถซื้อหลักทรัพย์ที่สำนักงานกำกับดูแลได้อยู่แล้ว

.
ข้อเสนอแนะแนวทางธรรมาภิบาลต่อสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

เมื่อพิจารณาจรรยาบรรณของ สคฝ. และหน่วยงานอื่นประกอบแล้ว เห็นว่า สคฝ. ควรเพิ่มเติมแนวทางธรรมาภิบาลบางประเด็น เพื่อให้แนวทางธรรมาภิบาลของ สคฝ. มีความสมบูรณ์มากขึ้น อันจะทำให้การดำเนินงานของ สคฝ. สามารบรรลุเป้าหมายและภารกิจในการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนที่ฝากเงินกับสถาบันการเงินและช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อความโปร่งใส ความเป็นธรรม รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ สคฝ. ในการบริหารจัดการและป้องกันการแสวงประโยชน์จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ดังนี้

.

(1) คณะกรรมการ สคฝ. ควรจัดให้มีนโยบายในด้านธรรมาภิบาล ด้านจรรยาบรรณและด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์สำหรับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานให้เป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติม รวมทั้งควรมีกฎบัตร (Charter) สำหรับคณะอนุกรรมการทุกชุดด้วยจากเดิมที่มีจรรยาบรรณของผู้บริหารและพนักงานและระเบียบว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานเท่านั้น

.

ดังเช่นสำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดไว้ในแนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. กระทรวงการคลังได้ออกข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยจรรยาของผู้บริหารกระทรวงการคลังเพื่อป้องกันการขัดหรือแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. 2553     

.

นอกจากนี้ ในสถาบันประกันเงินฝากปฏิบัติเช่นเดียวกัน เช่น ฮ่องกงได้กำหนด Code of Conduct for Member of Hong Kong Deposit Protection Board and its Committees และแคนนาดาได้ออกบัตร Canada Deposit Insurance Corporation Board Charter เป็นต้น รวมทั้งควรมีกฎบัตร (Charter) สำหรับคณะอนุกรรมการทุกชุดด้วย

.

(2) ควรจัดทำเป็นคู่มือและกำหนดแนวทางปฏิบัติด้วยธรรมาภิบาล ด้านจรรยาบรรณและด้านความขัดแย้งทางผลประโยชน์สำหรับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ สื่อสารอย่างทั่วถึง และสนับสนุนให้มีการปฏิบัติภายในอย่างจริงจัง รวมทั้งเผยแพร่แนวปฏิบัติดังกล่าวต่อสาธารณะอย่างทั่วถึง ดังเช่นสำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการ และกบข. ได้จัดทำหลักปฏิบัติไว้ให้พนักงานปฏิบัติอย่างละเอียด เป็นต้น

.

(3) ควรมีการประเมินผลคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการปฏิบัติงานได้

.

(4) ควรกำหนดให้ผู้อำนวยการและพนักงาน สคฝ. ที่ปฏิบัติงานในส่วนที่สามารถล่วงรู้ข้อมูลของกิจการสถาบันการเงินตามอำนาจหน้าที่ หากพ้นจากตำแหน่งแล้วพึงหลีกเลี่ยงการไปรับตำแหน่งใดในสถาบันการเงินที่นำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากให้ สคฝ. ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับแต่พ้นจากตำแหน่ง 

.

เพื่อป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ และป้องกันมิให้นำข้อมูลของสถาบันการเงินที่ได้จากอำนาจหน้าที่ไปใช้ประโยชน์ ในลักษณะเดียวกับพนักงาน ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดห้ามไว้

.

การเสนอให้กำหนดข้อพึงหลีกเลี่ยงของผู้อำนวยการ สคฝ. ในลักษณะเดียวกับพนักงาน เนื่องจากเห็นว่ากฎหมายแม่บทมิได้บัญญัติห้ามไว้เหมือนผู้ว่าการ ธปท. และเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. แต่เห็นว่าการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ สคฝ. มีสิทธิ์ล่วงรู้ข้อมูลของสถาบันการเงินเช่นเดียวกับพนักงาน ธปท. และสคฝ.

.

(5) ควรจัดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่สามารถป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองหรือกลุ่มธุรกิจของธุรกิจสถาบันการเงินที่มีผลต่อความเป็นอิสระในการตัดสินใจของ สคฝ. มิให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอิทธิพลใด ๆ และเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมของสาธารณชน โดยกำหนดให้การพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวต้องมีการกลั่นกรองเป็นลำดังชั้น  

.

มีการบันทึกผลการพิจารณาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้องมีการบันทึกความเห็นที่แตกต่างกันไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งสอดคล้องกับ Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems ในข้อ 5 ที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาล (Governance) ในเรื่องนี้ดังเช่นสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน

.

(6) ควรมีการจัดทำและเปิดเผยในรายงานประจำปีถึงแถลงการณ์กำกับดูแลกิจการที่ดีที่ครอบคลุมถึงการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลที่ดี การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงของ สคฝ. ดังเช่น Philippine Deposit Insurance Corporation (PDIC) ได้มีการรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล (Governance)  

.

ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีประสบความสำเร็จ เช่น Audit Committee Board Risk Management Committee policy Review Committee Ethics Committee และยังมีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับ Internal Audit อีกด้วย

.

(7) สคฝ. ควรแจ้งให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทราบและถือปฏิบัติในข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติ มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสได้ไม่เกินสามพันบาทตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 

.

ซึ่งประกาศนี้ครอบคลุมถึงกรรมการ  ผู้บริหาร และพนักงานกับ สคฝ. ปัจจุบัน และรวมไปถึงผู้ที่พ้นจากงานไปแล้วไม่ถึง 2 ปีด้วย เนื่องจาก สคฝ. เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องถือปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวด้วย

.

(8) ในอนาคตกองทุนคุ้มครองเงินฝากจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ควรพิจารณาจัดให้มีส่วนงานกำกับและควบคุมความเสี่ยง เช่น ในงานด้านบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน เพื่อจะได้มีการพยากรณ์ สร้างระบบเตือนภัย และให้คำแนะนำในการป้องกันความเสียหายในสภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายให้กองทุนคุ้มครองเงินฝากได้ ดังเช่นกองทุนประกันสังคมได้จัดตั้งส่วนงานดังกล่าวขึ้น

.

(9) ในอนาคตเมื่อมี Portfolio การลงทุนด้านหลักทรัพย์ ควรมีข้อกำหนดให้ผู้อำนวยการ พนักงาน สคฝ. และคณะอนุกรรมการลงทุนพึงไม่ซื้อหรือรับหลักทรัพย์โดยได้สิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการได้มาจากตำแหน่งหน้าที่การงานหรือไม่ เพื่อป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกระทำดังกล่าว

.

บรรณานุกรม

1. ข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยจรรยาของผู้บริหารกระทรวงการคลังเพื่อป้องกันการขัดหรือแย้งระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ.2553, กระทรวงการคลัง, 9 กุมภาพันธ์ 2553
2. จรรยาบรรณพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2539, ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2539
3. จรรยาบรรณพนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
4. จรรยาบรรณและคู่มือการปฏิบัติงานด้านการลงทุน, กองทุนประกันสังคม, 6 ธันวาคม 2550
5. จรรยาบรรณสำหรับผู้อำนวยการและพนักงานสถาบันคุ้มครองเงินฝาก, สถาบันคุ้มครองเงินฝาก, 12 ตุลาคม 2552
6. ประกาศกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ 5-2546 เรื่อง จรรยาบรรณและหลักปฏิบัติพนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, 31 มีนาคม 2546
7. ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, 30 พฤศจิกายน 2543
8. พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
9. พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
10. พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
11. ระเบียบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการว่าด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของพนักงาน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
12. หลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล (Core Principles for Effective Deposit Insurance System), สถาบันคุ้มครองเงินฝาก, 25 มกราคม 2553
13.แนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. (Code of Governance), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, 1 ตุลาคม 2550
14. 2007 Annual Report, Philippine Deposit Insurance Corporation (PDIC)
15. Code of Conduct for members of Hong Kong Deposit Protection Board and its Commitees, December 2005
16. Canada Deposit Insurance Corporation Board Charter, March 2006

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง