1. ม็อบฉุดบริโภคหดตัว |
- นายพรศิลป์ พัชนรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าไทย ได้ประเมินถึงผลกระทบหากการชุมนุมนานกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป โดยคาดว่าจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารสูญเสียรายได้ประมาณ 1 ล้านบาทต่อวัน ในด้านการท่องเที่ยวอาจจะได้รับผลกระทบสูงถึง 5 พันล้านบาท |
. |
เช่นเดียวกับ น.ส.มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ที่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า คนไทยชะลอการท่องเที่ยวมากกว่าร้อยละ 40 |
. |
อีกทั้งยังเชื่อว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่งชาติในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่ 89 ล้านคน ขณะที่นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่า การชุมนุมในช่วงนี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างมาก เนื่องจากในสิ้นเดือนนี้จะมีการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ซึ่งคาดว่าการชุมนุมจะทำให้ยอดขายชะลอลง |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมมากที่สุด เนื่องจากนักท่องเที่ยวกังวลในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะกระทบภาคการโรงแรมและภาคค้าส่งค้าปลีก |
. |
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินทางเข้ามามากในเดือน ม.ค. 53 ที่ 1.6 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 30.2 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 53 จะอยู่ที่ 15.5 ล้านคนหรือจะขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี |
. |
2. สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดข้าวนาปรังปีเพาะปลูก 52/53 อยู่ที่ 8.3 ล้านตัน |
- สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยผลการสำรวจข้าวในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง พบว่าสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี 52/53 ผลผลิตต่อไร่ลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ค่อนข้างรุนแรง ในจังหวัดต่างๆ อาทิ กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง |
. |
จึงทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 52/53 ทั้งประเทศจะมี 22.97 ล้านตันข้าวเปลือกลดลงจากปีที่แล้ว 0.26 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนนาปรังประเมินว่าจะลดลง ร้อยละ 30 หรือราว 1 ล้านตัน ส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรังรวมอยู่ที่ประมาณ 8.3 ล้านตัน |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปีเพาะปลูก 52/53 ผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยหลายชนิดได้รับผลกระทบจากโรคระบาด โดยเฉพาะผลผลิตข้าว (ทั้งข้าวนาปี และข้าวนาปรัง) ที่ได้รับผลกระทบจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลง |
. |
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่น่ากังวลอีกปัจจัยหนึ่งของการปลูกข้าวในปี 52/53 คือปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงการปลูกข้าวนาปรัง โดยจากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่าในรอบ 60 วัน จะมีน้ำใช้ 5.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวนาปรังของไทยปี 53 จะอยู่ที่ประมาณ 8.2 ล้านตัน |
. |
3. ผู้บริโภคสหรัฐฯ ใช้จ่ายมากขึ้นจากยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 53 ที่ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 |
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลงตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.พ. 53 ว่าขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้าหรือขยายตัวร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าในเดือน ก.พ. พื้นที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ เผชิญกับภายุหิมะอย่างหนัก ซึ่งทำให้ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดว่ายอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า |
. |
โดยยอดค้าปลีกไม่รวมรถยนต์ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ตัวเลขยอดค้าปลีกที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดดังกล่าว ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ปิดในแดนบวกที่ 10,625 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 13 จุด |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวของยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 53 ที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นั้น เป็นหนึ่งในสัญญาณว่าเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะจากแรงขับเคลื่อนของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 70 ของ GDP อย่างไรก็ตาม |
. |
การฟื้นตัวในภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวจะส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยล่าสุดในเดือน ก.พ. 53 อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 9.7 ของกำลังแรงงานรวม ดีขึ้นจากระดับต่ำสุดเมื่อเดือน ต.ค. 52 ที่ร้อยละ 10.1 |