บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ของบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่นจำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR ที่ระดับ A-(tha) (A ลบ (tha)) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) ที่ระดับ ‘F2(tha)’ |
. |
ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ A-(tha) (A ลบ (tha)) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้มีหลักประกันชนิดทยอยคืนเงินต้นที่ระดับ ‘A(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ |
. |
อันดับเครดิตของ PTTAR สะท้อนถึงการที่บริษัทดำเนินกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ที่สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปชนิดที่มีมูลค่าสูงได้ในสัดส่วนที่สูง โดยมีการผลิตต่อเนื่องไปยังการผลิตอะโรเมติกส์ซึ่งทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีความคล่องตัวในการปรับระดับสายการผลิตที่เหมาะสม และยังช่วยลดความผันผวนของรายได้และกำไรของบริษัทลงได้ในระดับหนึ่ง |
. |
อันดับเครดิตยังได้รับการสนับสนุนจากลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เชื่อมโยงกับ บมจ. ปตท. (AAA/แนวโน้มเสถียรภาพ) และการที่บริษัทมีขนาดการดำเนินกิจการที่มีขนาดใหญ่และความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต |
. |
PTTAR จัดซื้อคอนเดนเสทซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอะโรเมติกส์จากแหล่งวัตถุดิบในประเทศในอ่าวไทย โดยมี ปตท. เป็นผู้จัดหาภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ส่วนใหญ่ของบริษัทจะถูกขายให้กับ ปตท. ภายใต้สัญญาการขายระยะยาว |
. |
รายได้และกำไรของ PTTAR ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปี 2552 โดยเป็นผลมาจาก กำไรจากการประกันความเสี่ยงส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์และราคาวัตถุดิบ กำไรจากสินค้าคงคลัง ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์และราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณการผลิตที่มากขึ้น แม้ว่าจะถูกลดทอนบางส่วนจากค่าการกลั่นตามราคาตลาดที่ลดลง |
. |
บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า จำนวน 19.6 พันล้านบาท ในปี 2552 (2551: ขาดทุน 9.2 พันล้านบาท) โดยถ้าหักส่วนของการเพิ่มค่าของสินค้าคงคลังเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์และราคาวัตถุดิบ บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า จำนวน 14.5 พันล้านบาท (2008: ขาดทุน 4 พันล้านบาท) แม้ว่าบริษัทมีหนี้สินสุทธิที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้น |
. |
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัททำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.9 เท่า ในปี 2552 (3.4 เท่า ในกรณีที่ไม่รวมหนี้สินด้อยสิทธิ) จากผลขาดทุนจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ในปี 2551 |
. |
ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของบริษัท ถูกลดทอนลงจากปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ค่าการกลั่น ตลอดจนวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมี บริษัทยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดหาน้ำมันดิบ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาแหล่งน้ำมันดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง |
. |
ธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตใหม่จำนวนมาก ในขณะที่ความต้องการยังคงอ่อนแออยู่ ถึงแม้ฟิทช์คาดการณ์ว่าความต้องการจะค่อยๆฟื้นตัวในปี 2553 ก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้น่าจะยังคงกดดันค่าการกลั่น ส่วนต่างระหว่างราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับต้นทุนวัตถุดิบ และอัตราการใช้กำลังการผลิตในตลอดช่วงปี 2553 |
. |
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึง การที่ฟิทช์คาดว่า PTTAR จะสามารถรักษาความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตที่เชื่อมโยงระหว่างการกลั่นน้ำมันและการผลิตอะโรเมติกส์และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมถึงการคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะค่อยๆปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง |
. |
การปรับตัวที่ดีขึ้นอย่างมากของผลการดำเนินงานซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนหนี้สิน และระดับค่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์และราคาวัตถุดิบรวมที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง หรือ การเพิ่มขึ้นอย่างมากของการกู้ยืมเพื่อการลงทุน จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท |