เนื้อหาวันที่ : 2010-03-12 10:18:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1950 views

พลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินในอนาคต

สนพ.ระดมผู้เชียวชาญถกโอกาสพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินในอนาคต ออกโรงเชียร์ใช้ พลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด อ้างต้นทุนต่ำและก๊าซเรือนกระจกน้อย

สนพ.ระดมผู้เชียวชาญถกโอกาสพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินในอนาคต ออกโรงเชียร์ใช้ พลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด อ้างต้นทุนต่ำและก๊าซเรือนกระจกน้อย

.

.

นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นวิทยากรเสวนา เรื่อง “โอกาสพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินในอนาคต” ในงานสัมมนา เรื่อง “Fuel Options  for Electricity Generation” เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2553 ณ โรงแรมมิราเคล แกรนด์ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

.

โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.กมล ตรรกบุตร ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ ผู้อำนวยการสายงานองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด

.
โดยสามารถสรุปประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการเสวนาเรื่อง “โอกาสพลังงานนิวเคลียร์และถ่านหินในอนาคต” จากวิทยากร ดังนี้

นายชวลิต พิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยพลังงานเป็นสำคัญ ดังนั้นประเทศไทยต้องหาแนวทางรับมือในการจัดหาพลังงานภายใต้โจทย์พลังงานราคาถูกไม่มีอีกแล้วและต้องเป็นพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ทำร้ายสภาพภูมิอากาศไปมากกกว่านี้

.

ซึ่งพลังงานที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้มากขึ้นในอนาคต เพราะมีต้นทุนต่ำและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยหากเทียบกับพลังงานฟอสซิลชนิดอื่น คือ พลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีสะอาด

.

สำหรับความคืบหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของไทย ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าที่สังคมเป็นห่วง กระทรวงพลังงานได้ตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นในประเทศไทยคงต้องพิจารณาถึงเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงสุด เช่น เทคโนโลยีรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นระบบปิด ป้องกันไม่ให้รังสีแผ่ออกมาได้

.

อย่างไรก็ตามอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งจะใช้เทคโนโลยีสะอาดคือมีระบบดักจับฝุ่น ละออง หรือมีระบบการจัดการที่ทันสมัย ซึ่งคาดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถูกบรรจุในแผนพีดีพี 2010 ซึ่งกระทรวงอยู่ระหว่างร่างแผน จำนวน 9 โรง หรือประมาณ 8,000-9,000 เมกกะวัตต์ โดยเป็นการปรับประมาณลงจากการรับฟังความคิดเห็นซึ่งได้จัดขึ้นไปหลายครั้ง จากเดิมที่กำหนดว่า 11 โรง

.

ดร.กมล ตรรกบุตร ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการจัดอันดับประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปรากฏว่าประเทศจีนนำเป็นอันดับ 1 สำหรับประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 42

.

ดังนั้นการนำพลังงานสะอาด หรือพลังงานที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดสำคัญมาก สำหรับพลังงานนิวเคลียร์จะเกิดขึ้นหรือไม่รัฐบาลต้องตัดสินใจภายในปลายปีนี้หรือต้นปี 2554 อย่างไรก็ตามสำนักงานนิวเคลียร์ยังคงต้องรวบรวมผลการศึกษารอบด้าน ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

.

นายวีระพล พวงพิทยาวุฒิ ผู้อำนวยการสายงานองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การสร้างการยอมรับของชุมชนต่อโรงไฟฟ้าไม่ว่าจากเชื้อเพลิงชนิดใดเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยสามารถวิเคราะห์ปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าของประชาชนได้หลายประการ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า  ถ่านหิน

.

เนื่องจากประชาชนมีความทรงจำที่ไม่ดีกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีความเชื่อว่าเป็นพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ ชุมชนไม่ได้รับข้อเท็จจริง กระบวนการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเตรียมสร้างโรงไฟฟ้า และการไม่มีส่วนร่วมของชุมชนตั้งแต่การเริ่มต้นสร้างโรงไฟฟ้าจนถึงการตรวจสอบเมื่อโรงไฟฟ้าดำเนินการผลิต

.

ดังนั้นปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข ต้องสร้างการยอมรับให้ชุมชน เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งเสนอแนะให้ภาครัฐเป็นผู้จัดหาพื้นที่สำหรับสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หลังจากนั้นจึงค่อยเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาดำเนินการก่อสร้างและผลิต หรือจัดโซนนิ่งโรงไฟฟ้า กำหนดให้ชุมชนบริหารจัดการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเอง ส่วนราคาไฟฟ้าไม่ควรเป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ แต่ควรกำหนดให้จังหวัดใดที่มีโรงไฟฟ้าได้ใช้ไฟราคาถูก เป็นต้น

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน