1. สถานการณ์การเมืองส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท และอาจทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัว |
- ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มออ่อนค่าลง จากปัจจัยการเมืองในประเทศ โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาอยู่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการหวั่นการประกาศใช้ พรบ. ความมั่นคงฯ จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีอยู่มากทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในประเทศที่สำคัญในขณะนี้คือความเสี่ยงด้านการเมือง ที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและธุรกิจการท่องเที่ยว สะท้อนจากภาคการลงทุนของต่างชาติที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง |
. |
โดยที่ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ณ วันที่ 9 มี.ค. 53 อ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 0.40 จากวันที่ 5 มี.ค. 53 อีกทั้ง ความวุ่นวายของสถานการณ์ด้านการเมืองในเขตกรุงเทพฯ อาจจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวซมเซา และเป็นความเสี่ยงทำให้การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่ถึงเป้าหมาย 15.5 ล้านคนในปี 53 และล่าสุด 31 ประเทศได้ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยในช่วงนี้แล้ว |
. |
2. AFTA ดันอาหาร-สิ่งทอ-อัญมณีขยายตัวในช่วงร้อยละ 9-13 |
- กรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การค้าไทยหลังจากไทยเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 53 ที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณี ทั้งนี้ คาดว่าในปี 53 อุตสาหกรรมในกลุ่มดังกล่าวจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 -13 |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักสูงถึงร้อยละ 39.0 ของ GDP และสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.9 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 |
. |
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสิ่งทอ ที่มีน้ำหนักถึงร้อยละ 15.5, 10.7, 7.2, 5.4 และ 7.3 ของ GDP ตามลำดับ |
. |
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวจะสามารถขยายตัวได้จากข้อตกลงและการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งคาดว่าจะทำให้มียอดคำสั่งซื้อและการค้าขายภายในภูมิภาคเอเชียที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (intra-regional trade in emerging Asia) เพิ่มมากขึ้นจากระดับร้อยละ 40.8 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ณ ปี 2549 จากร้อยละ 29.0 ณ ปี 2533 |
. |
3. จีนย้ำความสำคัญของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ และลดความสำคัญของการถือครองทองคำลง |
- รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน และผู้อำนวยการสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐ(SAFE) ออกแถลงข่าวโดยตอกย้ำถึงความสำคัญของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงขนาดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน ซึ่งมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกัน และย้ำว่าจีนเป็นผู้ที่ลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และหวังว่าบทบาทของจีนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ จะไม่ถูกโยงเกี่ยวกับเรื่องการเมือง |
. |
นอกจากนี้ ยังแจ้งว่าไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการสะสมทองสำหรับเงินทุนสำรองฯ เนื่องจากไม่เห็นว่าเป็นช่องทางการลงทุนที่คุ้มค่า และคาดว่าปีนี้จะมีเงินทุนไหลเข้ามาขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงโดยเปรียบเทียบซึ่งอาจทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่ามากขึ้น |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า จีนเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงสุดเป็นมูลค่า 895 พันล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นร้อยละ 24.25 ของผู้ถือต่างประเทศทั้งหมดจำนวน 3.7ล้านล้านดอลล่าร์ สรอ. ณ สิ้นปี 52 ทำให้นักลงทุนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลงใน portfolio แม้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดในหลายๆ ที่ได้ |
. |
ทั้งนี้ การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐของจีนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นได้อีกจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องจากจีน สะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ธ.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 ต่อปี ซึ่งเป็นปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินโลกที่ต้องแก้ไขต่อไป |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |