สถาบันอาหาร จี้รัฐทบทวนการเจรจา FTA ช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยอยู่รอดและสามารถขยายตลาดอาหารในจีนได้อย่างยั่งยืน พร้อมรุกตลาดจีนภายใต้ข้อตกลงทางการค้าอาเซียน จีน
สถาบันอาหาร จี้รัฐทบทวนการเจรจา FTA ช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยอยู่รอดและสามารถขยายตลาดอาหารในจีนได้อย่างยั่งยืน พร้อมรุกตลาดจีนภายใต้ข้อตกลงทางการค้าอาเซียน – จีน |
. |
. |
อุตสาหกรรมอาหารไทย ในรอบ 6 ปี ภายใต้ FTA ไทย – จีน และ อาเซียน – จีน สถาบันอาหาร ชี้ไทยเผชิญศึกใหญ่ ทางรอดต้องทั้งรุก และตั้งรับ |
. |
สถาบันอาหาร จี้รัฐทบทวนการเจรจา FTA ช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยอยู่รอดและสามารถขยายตลาดอาหารในจีนได้อย่างยั่งยืน พร้อมรุกตลาดจีนภายใต้ข้อตกลงทางการค้าอาเซียน – จีน ที่จะทวีความเข้มข้นตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ระบุ ภาครัฐต้องใช้จุดแข็งของไทยให้เป็นประโยชน์ |
. |
โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การบริหารจัดการด้านการผลิต และโลจิสติกส์ ควบคู่กับการยกระดับผู้ประกอบการด้านระบบคุณภาพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และความปลอดภัยอาหาร |
. |
เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอาหารที่ผลิตสินค้าป้อนตลาดในประเทศ ภาครัฐต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ทั้งการลดต้นทุน การจัดการด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะคลัสเตอร์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากประเทศจีน และประเทศในกลุ่มอาเซียน |
. |
ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่าจากข้อตกลงทางการค้า FTA ไทย-จีน ที่เริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ ปี 2546 และตามด้วยข้อตกลงการค้าอาเซียน-จีน ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2552 รวมระยะเวลา 6 ปี สินค้าเกษตร-อาหารของไทยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลจากข้อตกลงนี้ |
. |
จีนได้กลายเป็นตลาดสำคัญที่กำหนดทิศทางการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าสินค้าอาหารอันดับ 3 ของไทย รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยจีนมีสัดส่วนร้อยละ 6.25 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย (มูลค่าส่งออกสินค้าอาหารของไทย ปี 2552 เท่ากับ 754,212 ล้านบาท) |
. |
การส่งออกอาหารของไทยไปจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มูลค่าการส่งออกในขณะนั้น อยู่ที่ 27,369 ล้านบาท กลายมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทยจากปีก่อนนี้ที่อยู่ในอันดับ 5 และการค้าเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นในปี 2549 ไทยส่งออกอาหารไปจีนด้วยมูลค่าสูงถึง 40,033 ล้านบาท |
. |
เมื่อคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงดังกล่าวพบว่าเติบโตถึงร้อยละ 25 มากกว่าการเติบโตในตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน ที่เติบโตร้อยละ 8 และ 11 ตามลำดับ หลังจากปี 2549 การส่งออกไปจีนเริ่มมีความผันผวนสูง โดยในปี 2550-2551 ไทยส่งออกได้ลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 10.35 และ 19.50 ตามลำดับ และกลับมาขยายตัวสูงสุดอีกครั้งในปี 2552 มีมูลค่าส่งออก 47,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 กว่าร้อยละ 60 |
. |
นอกจากการส่งออกของไทยจะเติบโตสูง การนำเข้าของไทยจากจีนก็มีการขยายตัวด้วยเช่นกัน โดยไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนในช่วงก่อนเปิดเสรีการค้าเฉลี่ย 7,000 ล้านบาท หลังเปิดเสรีไทยนำเข้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และเติบโตสูงสุดในปี 2552 มีมูลค่ารวม 21,873 ล้านบาท แต่ไทยยังเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด |
. |
“แม้ในภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปจีนจะขยายตัวได้สูง แต่เมื่อย้อนกลับไปดูการค้าสินค้าอาหารของไทยกับจีนนับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีข้อสังเกตสำคัญหลายประการ โดยสถาบันอาหารได้ทำการรวบรวม เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาลและเอกชนได้หาแนวทางตั้งรับและรุก |
. |
เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถอยู่รอดได้ภายใต้การค้าเสรีที่จะไม่มีอุปสรรคด้านภาษีมากีดกันโดยเฉพาะมันสำปะหลัง ข้าว และผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่กำหนดทิศทางการส่งออกอาหารของไทยไปจีน ขณะเดียวกันในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่าสินค้าอาหารส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของไทยที่ส่งออกไปจีนจะเป็นสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบสำหรับเข้าสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง/กลุ่มสินค้าแปรรูปขั้นต้น |
. |
ส่วนสินค้าอาหารแปรรูปสำเร็จรูปหรือสินค้ามูลค่าเพิ่มยังมีสัดส่วนการส่งออกเพียงร้อยละ 10 ที่สำคัญ เช่น เครื่องปรุงรส ผักผลไม้กระป๋อง ขนมปังกรอบ และก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุง เป็นต้น โดยพบว่าสินค้ารายการดังกล่าวมีสัดส่วนการส่งออกในแต่ละชนิดยังไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมดของไทยไปจีน |
. |
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มการเติบโตในทิศทางที่ดี ยกเว้นผักผลไม้กระป๋อง ที่พบว่ามีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ดังนั้น ภาครัฐจะต้องผลักดันให้เกิดการส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปสำเร็จรูปหรือสินค้ามูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะสร้างเสถียรภาพให้กับอาหารไทยในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” ดร.อมร กล่าว |
. |
อย่างไรก็ตาม ไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากจีนเติบโตไม่แพ้กับการส่งออกจากไทยไปจีน โดยมีการเติบโตทุกปีตั้งแต่ปี 2545 เฉลี่ย 7,000 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ปี 2549 ภายหลังข้อตกลงอาเซียน-จีน มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของไทยจากจีนเพิ่มเป็น 10,762 ล้านบาท และเพิ่มสูงสุดในปี 2552 เป็น 21,873 ล้านบาท |
. |
โดยเป็นการเติบโตที่ไม่หวือหวามากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกของไทยไปจีน กลุ่มสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมากที่สุดคือ ผักและผลไม้ เช่น แอปเปิล องุ่น แพร์และควินซ์ ส้ม แครอต และเห็ดต่างๆ โดยมีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 54 ของการนำเข้าสินค้าอาหารทั้งหมดของไทยจากจีน |
. |
รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ปลาสคิปแจ็กหรือปลาโอท้องแถบแช่แข็ง และปลาทูน่าแปรรูป มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 17 กากน้ำมันและอาหารสัตว์เลี้ยง ร้อยละ 5 และ 3 ตามลำดับ ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ สินค้าอาหารที่จีนส่งออกมาไทยจะเป็นกลุ่มอาหารแปรรูปหรือสินค้ามูลค่าเพิ่ม ที่มีสัดส่วนร้อยละ 33 ของการส่งออกอาหารทั้งหมดของจีนมาไทย เป็นสัดส่วนที่มากกว่าไทยส่งออกไปจีน จึงน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางรองรับสถานการณ์นี้ |
. |
รักษาการผู้อำนวยกาสถาบันอาหาร กล่าวด้วยว่า จากข้อสังเกตที่สถาบันอาหารทำการรวบรวมไว้นั้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งจัดทำกระบวนการ ทบทวนการเจรจา FTA เพื่อหาแนวทางตั้งรับกับผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น และผลเชิงบวกเพื่อรุกตลาดจีนภายใต้ข้อตกลงทางการค้าอาเซียน-จีน ซึ่งจะมีความเข้มข้นมากกว่าอดีตที่ผ่านมาหลายเท่าตัว นับจากปี 2553 เป็นต้นไป ดังนั้น ภาครัฐจะต้องมีนโยบายเพื่อรองรับ |
. |
ผลที่จะเกิดขึ้นต่อกลุ่มผู้ประกอบการอาหารทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์ เพื่อให้สามารถขยายตลาดอาหารในจีนได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจัยสำคัญที่จะเป็นประเด็นทางการแข่งขันในตลาดจีนนับจากนี้ไป คือ ราคา และการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB) จะกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งในด้านความปลอดภัยอาหาร สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม |
. |
ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีในกลุ่มนี้ภาครัฐต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอาหารของไทยโดยใช้แนวคิด Value Creation เน้นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มและรักษามูลค่าการค้าของไทย และต้องให้มีความแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่งในกลุ่มอาเซียนจึงจะสามารถแข่งขันได้ |
. |
นอกจากนี้ การบริหารจัดการด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุน การบริหารจัดการด้าน โลจิสติกส์ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในด้านราคาได้ และการยกระดับผู้ประกอบการในด้านระบบคุณภาพมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความปลอดภัยอาหาร เป็นต้น ถือว่าเป็นจุดแข็งที่สำคัญของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน |
. |
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมและกลางที่ผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศ |
. |
ดังนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้สามารถแข่งขันกับสินค้าต้นทุนต่ำจากประเทศจีน และรวมถึงประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ภาครัฐจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยการช่วยเหลือด้านการลดต้นทุน การจัดการด้าน โลจิสติกส์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และการส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะคลัสเตอร์ เป็นต้น |
. |
ที่สำคัญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ภาคการผลิตในระดับฟาร์ม ภาคการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และภาคการค้าการลงทุน จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างจริงจังในลักษณะของ Single Agency เพื่อกำหนดแผนงานร่วมกันในการดูแลกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการค้าเสรี และกำหนดนโยบายเชิงรุกในการขยายตลาดในจีนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับประโยชน์จากการค้าเสรีต่อไปในอนาคต |
. |