เนื้อหาวันที่ : 2010-03-09 11:24:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 715 views

"วรรณรัตน์" ปลื้มไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม รมต.พลังงาน BIMSTEC

7 ประเทศภูมิภาคอ่าวเบงกอล ตบเท้าเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงาน BIMSTEC ครั้งที่ 2 ขานรับร่าง MOA จัดตั้งศูนย์ BIMSTEC ที่ประชุมร่วมกันจัดตั้งศูนย์ฯ ให้เป็นรูปธรรม ภายใน 2 ปี เพื่อเร่งพัฒนาแผนงานพลังงานทดแทนและการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคฯ

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) หรือ ความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมดุสิตธานี โดยมี 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล         

.

ประกอบด้วย บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย เข้าร่วมประชุม สำหรับสาขาพลังงาน ได้รับการยกระดับให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี และมีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เพื่อผลักดันการดำเนินงานในสาขาพลังงานของประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ ที่มีจำนวนประชากรรวมกว่า 1,466 ล้านคน ให้สามารถดำเนินนโยบายทางด้านพลังงานของประเทศสมาชิกให้มีความมั่นคง 

.

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงาน ครั้งที่ 2 ยังมีวาระสำคัญเพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านพลังงาน BIMSTEC ณ ประเทศอินเดีย เพื่อเป็นศูนย์พลังงานฯ ที่พร้อมให้บริการแก่ประเทศสมาชิกในการส่งเสริมและพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการลงทุนทางด้านพลังงาน                 

.

พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสานงานโครงการและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานให้แก่ประเทศสมาชิกในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ในที่ประชุมทั้ง 7 ประเทศเห็นชอบความร่วมมือเพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC คาดว่าในอีก 3 เดือนจะมีการพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง MOA อย่างเป็นทางการที่ประเทศพม่า

.

ในด้านแผนปฏิบัติงานความร่วมมือด้านพลังงานของกลุ่มประเทศสมาชิก แบ่งออกเป็น 7 สาขา ประกอบด้วย แผนงานการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาค ท่อส่งก๊าซธรรมชาติในกลุ่มประเทศ BIMSTEC สาขาศักยภาพของโครงการพลังงานน้ำในกลุ่มประเทศ BIMSTEC สาขาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่    

.

เรื่องประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน เรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยด้านพลังงาน และการจัดการข้อมูลวิจัยวิเคราะห์ทิศทางพลังงานในอนาคต ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าแผนงานการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอ่าวเบงกอล เป็นวาระที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ สำหรับประเทศไทยก็มีเป้าหมายในการจัดตั้งศูนย์กลางเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาค (Bio-fuel Hub) 

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ยังกล่าวอีกว่า การประชุมรัฐมนตรีพลังงาน BIMSTEC ครั้งที่ 2 นี้ ก่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องกรอบความร่วมมือของประเทศสมาชิกทั้ง 7 ประเทศ กล่าวคือ มีการกำหนดวาระการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงาน BIMSTEC ทุกๆ 2 ปี  

.

โดยในครั้งต่อไปประเทศเนปาลเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงาน BIMSTEC ในปี 2012 นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้จัดประชุม BIMSTEC ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงานเป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมกันดำเนินการผลักดันความร่วมมือกลุ่มประเทศภูมิภาคอ่าวเบงกอลต่อไป