เนื้อหาวันที่ : 2010-03-09 10:54:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1291 views

ไอซีที หารือ 4 คณะอนุกรรมการฯ หวังเร่งจัดทำ e-Document

ก.ไอซีที หารือ 4 คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พิจารณาหลักเกณฑ์การจัดทำ e-Document

ก.ไอซีที หารือ 4 คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พิจารณาหลักเกณฑ์การจัดทำ e-Document

.

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

.

นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงเรื่อง ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำเอกสารหรือแปลงเอกสารหรือข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ว่า จากข้อกำหนดในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544          

.

แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 มาตรา 12/1 ได้กำหนดไว้ว่า การจัดทำหรือแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในภายหลังด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  ต้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนด 

.

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย/แผน/มาตรการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น

.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารหรือข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติฯ โดยร่างหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว จะต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย

.

“ในการจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารหรือข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Document นั้น ได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นในการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ฯ ไปแล้ว 2 ครั้งในเดือนธันวาคม 2552 และเดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา

.

ซึ่งขณะนี้ร่างหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการนำเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พิจารณา และเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเสร็จทันภายในเดือน พฤษภาคม 2553          

.

กระทรวงฯ จึงจัดการประชุมชี้แจงร่างหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ต่อคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกสที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 คณะ คือ 1. คณะอนุกรรมการมาตรฐาน พัฒนา และวิจัยเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2.คณะอนุกรรมการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ  3.คณะอนุกรรมการความมั่นคงปลอดภัย  และ 4.คณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมาย  

.

สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากคณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 4 คณะนั้น กระทรวงฯ จะนำไปใช้ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทำหรือแปลงเอกสารหรือข้อความให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความสมบูรณ์ ก่อนการประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป” นายธานีรัตน์ กล่าว