เนื้อหาวันที่ : 2010-03-08 09:35:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 549 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 2-5 มี.ค. 2553

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,967.15 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2.67 พันล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 43.85 ของ GDP การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 8.17 พันล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐค้ำประกัน 3.0 พันล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 27 ล้านบาท  ขณะที่ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 8.53 พันล้านบาท

.

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินในเดือน ม.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี เร่งขึ้นตามการขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ในขณะที่เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในเดือน ม.ค. 53 ขยายตัวชะลอลง

.

โดยเงินฝากของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งจากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีก่อนหน้า ประกอบกับการที่มีการหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามากขึ้น

.

ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์และเหล็กภายในประเทศ ในเดือน ม.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 5.4 และ 15.0 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง โดยสาเหตุสำคัญมาจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปี 52 จากผลกระทบของการลงทุนภายในประเทศในไตรมาส 1 ที่หดตัวกว่าร้อยละ -17.8 ต่อปี

.

ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดก่อสร้างและหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 13.7 และ 47.5 ต่อปี ตามลำดับ

.

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. 53 เกินดุลที่ 1,997 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเกินดุลบริการ นำส่งรายได้และเงินโอนเป็นหลักเป็นสำคัญ โดยมีการเกินดุลที่สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

.

นอกจากนี้ดุลการค้าปรับตัวเป็นบวก หลังจากที่มีการติดลบในเดือนก่อนหน้าจากมูลค่าการนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. 53 ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

.

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน  สาเหตุสำคัญจาก1) ดัชนีหมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งถูกนำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก 2) ราคาผักและผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เช่น ผักกาด แตงกวา มะนาว

.

3) ดัชนีค่าไฟฟ้า น้ำประปาฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เนื่องจากการปรับลดเกณฑ์ 5 มาตรการ 6 เดือนในส่วนของน้ำประปา ทำให้ประชาชนรับภาระเพิ่มขึ้น  และหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 0.56 (%mom) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง