กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หวังเปิดช่องทำการค้าและการลงทุนทำเหมืองแร่ของไทยออกสู่ต่างประเทศ
กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หวังเปิดช่องทำการค้าและการลงทุนทำเหมืองแร่ของไทยออกสู่ต่างประเทศ |
. |
. |
นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุอาเซียน ครั้งที่ 10 (The Tenth ASEAN Senior Officials Meeting on Minerals: 10th ASOMM) |
. |
รวมทั้งการประชุมคณะทำงาน ASOMM ครั้งที่ 7 และการประชุม ASOMM+3 ครั้งที่ 3 โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เข้าร่วมประชุมกว่า 120 คน ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ |
. |
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุอาเซียน ครั้งที่ 10 รวมทั้งการประชุมคณะทำงาน ASOMM ครั้งที่ 7 และการประชุม ASOMM+3 ครั้งที่ 3 |
. |
โดยการประชุมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในด้านการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทางด้านวิชาการ การสำรวจ การผลิต และการตลาด เพื่อให้ได้ผลผลิตแร่ธาตุที่มีคุณภาพไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ระหว่างกัน |
. |
ซึ่งปัจจุบันความร่วมมือทางด้านแร่ธาตุของอาเซียนได้ขยายขอบเขตไปสู่ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีใต้ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรับการถ่ายทอดการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสการค้าและการลงทุน |
. |
นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภูมิภาคอาเซียนยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรแร่ประกอบด้วย แร่โลหะ เช่น ดีบุก สังกะสี ทองแดง อลูมิเนียม นิกเกิล เหล็ก ฯลฯ แร่ที่มีค่าสูง เช่น ทองคำ รัตนชาติ แร่อุตสาหกรรมชนิดต่างๆ |
. |
รวมทั้งแร่พลังงาน เช่น ถ่านหิน ฯลฯ ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของภูมิภาคอาเซียนกำลังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการซื้อขายแร่ระหว่างกันในประเทศกลุ่มอาเซียนไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปี โดยประเทศไทยมีมูลค่าซื้อขายสินค้าแร่กับประเทศต่างๆ ในอาเซียนประมาณปีละ 36,000 ล้านบาท |
. |
จากภาวะปัจจุบันประเทศไทยกำลังมีการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม จึงมีความต้องการใช้วัตถุดิบแร่ในปริมาณมาก แต่การผลิตในประเทศไม่สามารถรองรับความต้องการได้ การจัดหาแร่จากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก และการนำเข้าแร่จากประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันก็มีความเหมาะสมและสามารถควบคุมต้นทุนเกี่ยวกับค่าขนส่งได้ |
. |
อีกทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนยังมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนด้านเหมืองแร่จากต่างประเทศ การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นช่องทางที่ดีในการประสานประโยชน์จากการสร้างความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ โดยการผลักดันให้ภาคเอกชนของไทยเดินทางไปลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศอาเซียนได้อย่างคล่องตัว |
. |
ปัจจุบันมีภาคเอกชนของไทยเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ในหลายประเทศ เช่น การทำเหมืองแร่ถ่านหินในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เหมืองแร่สังกะสี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม |
. |
การทำเหมืองแร่ดีบุกในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหภาพเมียนมาร์ รวมทั้งอีกหลายโครงการยังอยู่ระหว่างการสำรวจและเตรียมการทำเหมืองแร่ในประเทศต่างๆ รอบประเทศไทย เพื่อนำผลผลิตแร่กลับมาใช้ในประเทศ หรือสร้างธุรกิจต่างๆ จากฐานทรัพยากรแร่ในประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นการขยายการลงทุนของไทยออกสู่ต่างประเทศ |