เนื้อหาวันที่ : 2010-03-04 09:40:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2263 views

บริหารอีคิว เลี่ยงปัญหาสุขภาพจิต

ปัจจุบันคนไทยมีความเครียด วิตกกังวลสูง อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ การบริหารอีคิว เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรง

จิตแพทย์แนะคนไทยบริหารอีคิว เลี่ยงปัญหาสุขภาพจิต

.

.

สภาพการณ์ของคนไทยกำลังเผชิญกับภาวะบีบคั้นรอบด้าน ทั้งจากวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเจอกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อีก ทำให้ประชาชนเกิดความเครียด วิตกกังวลสูง และมีอารมณ์แปรปรวน ในรายที่มีอาการสะสมรุนแรงก็จะพัฒนาไปสู่อาการทางจิตหรือฆ่าตัวตายได้

.

จากผลสำรวจล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขปี 2551 พบว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 6-12 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านและต้องมีภาระรับผิดชอบดูแลบ้านและครอบครัว ซึ่ง นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ทั่วไปโรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า คนไทยยังมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องของสุขภาพจิตน้อย จึงไม่สามารถบริหารจัดการความเครียดได้

.

อีกทั้งสังคมยังมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนา IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางสติปัญญา จนมองข้ามในเรื่องของ EQ (Emotional Quotient) หรือ ความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งจุดนี้เองทำให้คนไทยเกิดความเครียด วิตกกังวล และมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นทุกปี

.

ซึ่งอีคิวมีความสำคัญมากในการทำงาน และดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะการมีอีคิวที่ดีถือว่าเป็นพื้นฐานทางด้านจิตใจ เพราะอีคิวคือความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง คนที่มีอีคิวดีจะสามารถยับยั้งชั่งใจในการแสดงออกทางอารมณ์และตอบสนองความต้องการของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง เพื่อนำไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ได้ และยังตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ในปัจจุบัน

.

ขณะเดียวกันก็อาจมีความยืดหยุ่นควบคู่กันไป ปรับให้เหมาะสมกับกาลเทศะ นอกจากนั้นยังช่วยในเรื่องของการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นที่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้ก็จะกลายเป็นคนที่มีปัญหาทางบุคลิกภาพ อันนำไปสู่การเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในที่สุด

.

คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวดีนั้น จะช่วยให้มีทักษะในการจัดการทางความคิดและดำเนินชีวิตประจำวันท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดภาวะความเครียดสะสม อันจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน และคนรอบข้าง นพ.กัมปนาท จึงให้แนวทางในการปฏิบัติเพื่อฝึกทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ดังนี้ 

 .

1. ต้องรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกตนเอง มากกว่าการที่จะต้องคอยกล่าวโทษคนอื่นๆ หรือสถานการณ์ บางครั้งการทำงานที่หมกมุ่นอยู่กับความเครียด ความสำเร็จในชีวิตมากเกินไป ทำให้ละเลยการใส่ใจอารมณ์ของตนเอง

.

2. สามารถแยกแยะระหว่างความคิดและความรู้สึกของตนเองได้ ความรู้สึกเกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และไม่จำเป็นต้องตอบสนองกับความรู้สึกนั้นๆ ทุกครั้ง แต่ความคิด (อย่างมีเหตุผล) สามารถช่วยควบคุมการตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกได้

.
3. รู้จักใช้ความรู้สึกบ้างในบางครั้งเพื่อช่วยในการตัดสินใจ แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรจะควบคู่กับการใช้สติด้วย
4. นับถือในความรู้สึกของผู้อื่น รวมถึงคนที่เก่งน้อยกว่าว่าบางครั้งวิชาการด้อยแต่อาจจะมีประสบการณ์ที่ดีกว่าก็ได้
 .

5. เมื่อถูกกระตุ้นให้โกรธสามารถควบคุมจิตใจไม่ให้โกรธหรือการแสดงอารมณ์ที่มากเกินไป จะเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตของตนเองและผู้อื่นด้วย การรู้จักฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยให้สามารถควบคุมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

 .

6. รู้จักฝึกหาคุณค่าในทางบวกจากอารมณ์ในทางลบ เช่น เวลาที่รู้สึกไม่สบายใจ เครียด ท้อแท้ อาจจะลองตั้งสติทบทวนหาสาเหตุ เมื่อทำได้บ่อยๆ จะเป็นคนที่มีเหตุผลมากขึ้น และมีประสบการณ์ที่เข้มแข็งมากขึ้นในการต่อสู้เอาชนะกับความไม่สบายใจในครั้งต่อๆ ไป

 .

อย่าพยายามทำตัวเป็นคนที่ชอบแนะนำ สั่งสอน อบรม วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา แม้ว่า คุณเป็นคนที่มีความรู้สูง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรู้ไปเสียหมดทุกเรื่องเสมอไป ประสบการณ์ที่หลากหลายหรือหลากมุมมองจากคนต่างสาขาวิชาชีพ จะช่วยให้คุณเป็นคนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นต้น

 .
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
โรงพยาบาลมนารมย์