เนื้อหาวันที่ : 2010-03-03 10:42:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1287 views

พลังงานผวา LPG ขาดแคลน จี้กบง.หาทางป้องกัน

กบง. ขยายระยะเวลาจำหน่ายน้ำมันม่วงให้ชาวประมงต่ออีก 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือภาคประมงในสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น พร้อมสรุปสถานการณ์ก๊าซ LPG และวางแนวทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ LPG เกิดการขาดแคลน

กบง. ขยายระยะเวลาจำหน่ายน้ำมันม่วงให้ชาวประมงต่ออีก 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือภาคประมงในสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น พร้อมสรุปสถานการณ์ก๊าซ LPG และวางแนวทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ LPG เกิดการขาดแคลน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 2 มีนาคม 2553 ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเรื่อง ขอขยายเวลาการดำเนินการโครงการจำหน่ายน้ำมันในทะเลอาณาเขตให้ชาวประมงชายฝั่ง (น้ำมันม่วง) ออกไปอีก 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินโครงการฯ ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

.

ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันให้ชาวประมง เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตร้อยละ 60-70 ของต้นทุนทั้งหมดในการทำประมงมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์ราคาสัตว์น้ำเฉลี่ยมีราคาลดลง ประกอบกับการเปิดเสรีของกลุ่มอาเซียนกระทบต่อราคาสัตว์น้ำ และยังมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงด้วย

.

โครงการดังกล่าวเป็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนให้ราคาต่ำกว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B5 โดยกองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายชดเชยประมาณ 2.13 บาท/ลิตรตลอดระยะเวลาโครงการที่ขยายออกไป ซึ่งคาดว่ากองทุนน้ำมันฯ จะต้องจ่ายเงินสนับสนุนโครงการฯสูงสุดประมาณไม่เกินเดือนละ 4.26 ล้านบาท ในระยะเวลา 6 เดือน รวมเป็นเงินประมาณ 25.54 ล้านบาท

.

อย่างไรก็ดี กองทุนน้ำมันฯ มีภาระเกี่ยวกับการชดเชยทั้งราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวและราคาน้ำมันอีกหลายชนิด โครงการน้ำมันม่วงเป็นความช่วยเหลือชั่วคราว หากทางกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าการช่วยเหลือชาวประมงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ก็ควรพิจารณาช่องทางการขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อสนับสนุนการจำหน่ายน้ำมันให้ชาวประมงขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางที่เหมาะสมกว่าการเสนอขอความช่วยเหลือจากกองทุนน้ำมันฯ

.

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ได้พิจารณา การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในประเทศ ซึ่งคาดว่าประมาณการการใช้ก๊าซ LPG ปี 2553 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 457 พันตัน/เดือน มีปริมาณผลิตได้ในประเทศอยู่ประมาณ 314 พันตัน/เดือน ทำให้ต้องนำเข้าอยู่ที่ระดับ 110 – 154 พันตัน/เดือน

.

โดยประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากประมาณการนำเข้า LPG ที่เพิ่มขึ้นและราคา LPG ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยการนำเข้า LPG อยู่ที่ประมาณ 1,606 – 2,017 ล้านบาท/เดือน

.
แนวทางแก้ปัญหา LPG ที่จะดำเนินการไปพร้อมกันประกอบด้วย

1) การเพิ่มความสามารถในการนำเข้า ด้วยการบริหารจัดการคลังก๊าซฯเขาบ่อยาให้สามารถรับ LPG ที่นำเข้าได้เพิ่มขึ้นจาก 88,000 ตัน/เดือน เป็น 110,000 ตัน/เดือน และใช้คลังลอยน้ำชั่วคราวเพิ่มการนำเข้าได้ 44,000 ตัน/เดือน ทำให้ขีดความสามารถการรับก๊าซ LPG ที่นำเข้าได้ทั้งหมด 154,000 ตัน/เดือน

.

2) เลื่อนการปิดซ่อมบำรุงประจำปีของโรงแยกก๊าซธรรมชาติบางแห่งออกไปเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลิต LPG ในประเทศ โดยพิจารณาระยะเวลาการปิดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซฯ บางแห่งให้อยู่ในช่วงเดียวกับช่วงที่สหภาพพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซฯ จากแหล่งยาดานาด้วย

.

3) บริหารจัดการการใช้ LPG ในประเทศผ่านมาตรการจูงใจแท็กซี่ให้เปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง LPG เป็น NGV จำนวน 20,000 คัน ซึ่งสามารถลดปริมาณความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในปี 2553 ลงได้ 149,000 ตัน และเร่งป้องกันการลักลอบการส่งออก LPG ไปประเทศเพื่อนบ้าน

.

4) การเพิ่มปริมาณการจัดหาในประเทศ โดยจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอมเพื่อให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 (ขนอม) สามารถเดินเครื่องผลิต LPG ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตมากขึ้นและกระทบต่อต้นทุนค่าไฟ

.

ที่ประชุม กบง. จึงเห็นชอบให้ชดเชยโดยลดราคาก๊าซธรรมชาติให้กฟผ. เพื่อให้โรงไฟฟ้าขนอมเดินเครื่องผลิตไฟซึ่งทำให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 4 เดินเครื่องผลิต LPG ได้เพิ่มขึ้น มาตรการดังกล่าวสามารถลดภาระเงินกองทุนน้ำมันฯ จากการนำข้า LPG ได้ถึง 200 ล้านบาท/เดือน

.

นอกจากนี้ ในการเพิ่มปริมาณจัดหาในประเทศ จะนำก๊าซ LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นออกมาจำหน่ายในประเทศด้วย โดยหารือเพื่อให้โรงกลั่นน้ำมันเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอื่นคือก๊าซธรรมชาติแทน LPG 

.

โดยที่ประชุม กบง. เห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยราคาต้นทุนที่สูงขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นที่นำมาทดแทน LPG ซึ่งคาดว่าการนำก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นแทน LPG นี้จะช่วยลดภาระเงินกองทุนน้ำมันฯ จากการนำเข้าก๊าซ LPG ได้ถึงประมาณ 38.37 ล้านบาท

.
ที่มา : สำงานนโยบายและแผนพลังงาน