เนื้อหาวันที่ : 2010-03-02 15:46:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1446 views

"ส่งออก" ดันชิ้นส่วนยานยนตร์ตีตลาด "โปแลนด์"

กรมส่งเสริมการส่งออก เผย ปี 52 โปแลนด์นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากไทยสูงถึง 29.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ในโปแลนด์ฉายแววสดใสต่อเนื่อง

กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศโปแลนด์มีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนตร์จากไทยสูงถึง 29.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2010 นี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ในโปแลนด์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

.

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เผยว่า ปัจจุบันประเทศโปแลนด์เป็นแหล่งผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และเป็นผู้ผลิตรถโดยสารอันดับ 3 ของยุโรป

.

ช่วงเดือนมกราคม 2553 โปแลนด์ผลิตรถยนต์ทั่วไปและรถอเนกประสงค์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำลังการผลิต 74,286 คัน ในจำนวนนี้ ส่งออกเป็นจำนวน 67,488 คัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.56 คาดว่าตลอดปี 2010 ร้อยละ 92.93 ของการผลิตยานยนตร์ทั้งหมดเป็นการผลิตรถยนตร์ทั่วไป

.

“ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 1 ของโปแลนด์ ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2552 โปแลนด์มีรายได้จากการส่งออก รวม 123.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ร้อยละ 14.96 ทำรายได้กว่า 18.5   ล้านเหรียญสหรัฐฯ

.

สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ รถยนต์ ชิ้นส่วน รถขนส่ง รถสาธารณะ เป็นต้น ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสเปน โดยโปแลนด์นำเข้าชิ้นส่วนยานยนตร์จากไทยสูงถึง 29.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ                  

.

คาดว่าในปี 2010 นี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ในโปแลนด์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของโปแลนด์ หรือ Polish Information and Foreign Investment Agency (PAIiIZ) ได้ให้การสนับสนุนและชักชวนบริษัทผู้ผลิตยานพาหนะข้ามชาติเข้ามาลงทุนในโปแลนด์เพิ่มมากขึ้น” นางศรีรัตน์             กล่าวเพิ่มเติม

.

สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่มาจากประเทศไทยส่วนใหญ่ ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการประกอบยานยนต์ และชิ้นส่วน คาดว่าการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปมีผลต่อการส่งออกของไทยมายังโปแลนด์ เมื่อสหภาพยุโรปมีการสั่งซื้อจากโปแลนด์สูงขึ้น โปแลนด์ก็สั่งซื้อสินค้าจากไทยมาประกอบเพื่อส่งออกมากขึ้นด้วย คาดว่า แนวโน้มในปี 2010 ตลาดน่าจะกลับสู่สภาพที่ดี

.
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก