เนื้อหาวันที่ : 2010-03-02 09:57:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 536 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ 22-26 ก.พ. 2553

Economic Indicators: This Week

Real GDP ในไตรมาส 4 ปี 52 ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 51 และดีขึ้นมากจากไตรมาส 3 ที่หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี และหากปรับฤดูกาลแล้วเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากทั้งการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ และการใช้จ่ายของรัฐบาลเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การลงทุนรวมยังคงหดตัวแม้ว่าจะดีขึ้นจากไตรมาสก่อน

.

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 53  ขยายตัวที่ร้อยละ 29.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 30.9 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า หดตัวร้อยละ -6.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเร่งการผลิตมากเป็นพิเศษในเดือนก่อนหน้าจนทำให้ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนก่อนอยู่ในระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์

.

ประกอบกับการผลิตที่ลดลงของบางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องแต่งกาย และน้ำมันปิโตรเลียม อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมหลัก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ยังคงขยายตัวในระดับสูง ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ม.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 60.4 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 61.1

.

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 53.2 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 27.7 ต่อปี ซึ่งขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เนื่องจาก

.

1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และภาคการส่งออก โดยในเดือนธ.ค.52 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี  ประกอบกับการที่มีการเปิดการค้าเสรีอาเซียนส่งผลให้ราคารถยนต์ปรับตัวลดลง

.

2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 21 เดือน และ 3) ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่ มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น

.

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค.53 ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 55.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.4 ต่อปี จากการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถปิคอัพ และรถบรรทุกขนาด 2 ตัน ขยายตัวร้อยละ 54.7 และ 44.1 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.3 และ 38.0 ต่อปี ตามลำดับ ตามสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์และอุปทานในประเทศที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

..

ซึ่งสะท้อนได้จากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ระดับ 115.4 ในเดือน ม.ค. 53 และอัตราการว่างงานที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง (ในเดือนธ.ค.52 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม)   ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำเมื่อปีที่แล้วที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงอย่างมาก

.

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในเดือน ม.ค. 53 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวน 1.65 ล้านคน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่มีจำนวน 1.68 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 30.2 ต่อปี แต่ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

.

โดยเป็นการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีนและกลุ่มอาเซียน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศ

.
Economic Indicators: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 53 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 หลังจากหดตัวติดต่อกันเป็นเวลานานในปีที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญจากฐานการคำนวณที่ต่ำในปีที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดีเซลในช่วงนั้นอยู่ที่ระดับเพียง 19.6 บาท/ลิตร

.

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 (%mom) โดยมีปัจจัยหลักมาจากดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง