เนื้อหาวันที่ : 2010-03-02 09:47:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 627 views

ไทย จับมือญี่ปุ่น หนุนSMEs เก่งครบเครื่อง

ฉลอง 120 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น รวมพลังหนุนพัฒนา SMEs หวังสร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี พลังงาน       ขยายตลาด และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

.

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 120 ปี ในการสถาปนาทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่น และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (JTEPA) ทั้งสองประเทศ จึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมไทย – ญี่ปุ่นขึ้นเพื่อเร่งสร้างความร่วมมือด้าน การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในเชิงรุก 5 ด้าน ซึ่งประกอบด้วย 1. ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม    

.

2. ความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต  3. พัฒนาการใช้พลังงานภาคอุตสาหกรรม  4. พัฒนาความร่วมมือ     ในการขยายช่องทางการตลาด และ 5. ความร่วมมือแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการดำเนินงานร่วมถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs

.

นายชาญชัย กล่าวว่า จากการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับหน่วยงานต่าง ๆ ของญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาจุดอ่อน เสริมพลัง  ในจุดแข็งให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงานทุกด้านมีความรุดหน้าเป็นลำดับ โดยขอสรุปทั้ง 5 ประเด็น ดังนี้ 

.
1. ความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม

1.1.โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ เอ เอช อาร์ ดี พี เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้ผลิตบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมแล้วกว่า      4,300 ราย โดยแบ่งเป็น ผู้ฝึกสอน จำนวน 256 ราย และบุคลากร จำนวน 3,984 ราย  และนำมาสู่ โครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ เอ เอช อาร์ ดี ไอ พี เพื่อสนับสนุนนโยบาย   ดีทรอยท์แห่งเอเชียของไทย ซึ่งตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ระดับโลกที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการฝึกอบรมระยะเวลา 10 ปี ดังนี้

.

1. ด้านการผลิต จะผลิตผู้ฝึกสอน 1,000 ราย และบุคลากร 255,000 ราย  2. ด้านการทดสอบ จะผลิตผู้ฝึกสอน 200 ราย และบุคลากร 30,000 ราย 3. ด้านการวิจัยและพัฒนา จะผลิตผู้ฝึกสอน  100 ราย และบุคลากร 15,000 ราย 4. หลักสูตรการฝึกอบรม จะพัฒนาระบบหลักสูตรในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญ ผู้ฝึกสอน และวิศวกรการผลิต ตลอดจนความชำนาญการทำธุรกิจให้กับผู้บริหารชั้นสูง

.

1.2.  โครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบในการให้บริการ เอส เอ็ม อี ในภูมิภาค เป็นโครงการ       ที่ได้รับความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นเพื่อมาให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาเครื่องมือและระบบในการให้บริการ เอส เอ็ม อี ในภูมิภาค

.

โดยนำร่องที่จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ตอนบน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการประมาณ  2 ปี ตั้งแต่ปี 2009 - 2011 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสำรวจข้อมูลของ 2 พื้นที่ เพื่อทราบถึงความต้องการ ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่มี ผลต่อการให้บริการ เอส  เอ็ม อี เพื่อนำมาสร้างหรือพัฒนาเครื่องมือและระบบในการให้บริการ เอส เอ็ม อี         ในรูปแบบโครงการนำร่องที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ 

.

1.3. โครงการสร้างเสริมและพัฒนาทักษะการวินิจฉัยเฉพาะทาง  โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นในการพัฒนาต่อยอดนักวินิจฉัยให้มีมุมมองในการให้คำปรึกษาแนะนำเฉพาะทางในสาขาต่างๆ ทั้งในพื้นที่ กรุงเทพฯ และภูมิภาค จำนวน 60 คน ผลการดำเนินโครงการ คาดว่าจะได้ผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ  ไปให้บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต  การวางกลยุทธ์บริหารจัดการ และการบริหารจัดการด้านพลังงาน 

.

1.4. โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมพัฒนาโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น (JODC) ในการส่งผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 2 ท่าน   ที่มีความรู้ความสามารถและมีความชำนาญทางเทคนิคในด้านต่างๆ ไปให้คำแนะนำช่วยเหลือยกระดับและพัฒนาทรัพยากรบุคคลในบริษัทของไทยและบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์สอดคล้องกับโครงการของไทย  มีโรงงานอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 โรงงาน

.
2. ความร่วมมือในการยกระดับเทคโนโลยีการผลิต

2.1. โครงการศึกษาและพัฒนาระบบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงชีวภาพ สำหรับเครื่องปรับอากาศได้รับความร่วมมือจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ เนโดะ (NEDO) เพื่อศึกษาและทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่ใช้เอทานอลที่มีความเข้มข้นต่าง ๆ เป็นเชื้อเพลิง และการปลดปล่อยมลพิษ และศึกษาและทดสอบสมรรถนะระบบ บี เอช พี สำหรับเครื่องปรับอากาศ

.

โดยมีผลสำเร็จกิจกรรม คือ 1. ลดการนำเข้าพลังงาน ส่งเสริมพลังงานทางเลือก และพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน 2. เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มการจ้างงาน   ลดปัญหาโลกร้อนและรักษาสิ่งแวดล้อม

.

3. ได้เครื่องยนต์ต้นแบบที่ใช้เอทานอลความเข้มข้นต่าง ๆ เป็นเชื้อเพลิง ไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม 4. ได้ต้นแบบระบบ บี เอช พี สำหรับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นระบบ         โคเจเนอเรชั่น ไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และนำไปสู่การขอรับความร่วมมือเพิ่มเติมในเรื่อง           การศึกษาวิจัยการศึกษาพัฒนาระบบเครื่องยนต์ไบโอเอทานอล ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้

.

2.2. โครงการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายบริการทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย ด้านอุตสาหกรรม หรือ              ที เอส เอ็น ซี  ได้รับความร่วมมือจากสมาคมพัฒนาโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ เจ โอ ดี ซี และสถาบันวิจัย โคเบลโค (Kobelco Research Institute) ใช้งบประมาณ 55 ล้านบาท ได้มีการเปิดตัวศูนย์เครือข่ายในวันที่        10 พฤศจิกายน 2551 สถาบันนี้ได้มีการให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมไปแล้วมากกว่า 100 ราย

.

2.3 โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผ้าผืน ได้รับความร่วมมือจากสมาคมพัฒนาโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ  เจ โอ ดี ซี และสมาคมผู้นำเข้าสิ่งทอแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ เจ ที ไอ เอ (JTIA) ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาผ้าผืนให้กับผู้ประกอบการไทยโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สถาบันสิ่งทอเป็นผู้ประสานงานการดำเนินการ

.
3. ความร่วมมือในการพัฒนาการใช้พลังงานเพื่ออุตสาหกรรม

3.1. โครงการต้นแบบเตาหลอมประสิทธิภาพสูงที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ได้รับความร่วมมือจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ เนโดะ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาประสิทธิภาพเตาหลอมโลหะในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีกำลังการผลิต 70 ตันต่อชั่วโมง และใช้ไฟฟ้า 280 กิโลวัตต์อาวร์ต่อตัน

.

สามารถลดการใช้พลังงานลงจากเดิมได้ประมาณร้อยละ 29 และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงจากเดิมได้ประมาณร้อยละ 28 งบประมาณโครงการรวม 864 ล้านบาท ขณะนี้โครงการ   อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสม

.

3.2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานจากพลังงานที่เหลือทิ้งในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้รับความร่วมมือจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ     เนโดะ เพื่อเป็นต้นแบบในการใช้พลังงานความร้อนที่เหลือทิ้ง (อุณหภูมิต่ำ) ในการผลิตกระแสไฟฟ้า                 ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะนี้โครงการอยู่ในระหว่างการพิจารณาจากเนโดะเพื่อดำเนินการในโครงการนำร่องต่อไป

.
4. ความร่วมมือในการขยายช่องทางการตลาดของ เอส เอ็ม อี

องค์การเพื่อการส่งเสริมเอสเอ็มอีและนวัตกรรมภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ  เอส เอ็ม อาร์ เจ (SMRJ) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน เอส เอ็ม อี เอ็กซ์โปร์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  ได้ให้พื้นที่กับผู้ประกอบการไทยที่มีผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมแสดงในงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 6 บูธ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2551 และในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาจำนวน 4 บูธ

.

โดยในปี 2552 ที่ผ่านมานั้น มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแสดงงาน จำนวน        16  ราย ภายในงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้สนใจเข้ารับข้อมูลจากผู้ประกอบการภายในงานไม่ต่ำกว่า 100 ราย

.
5. ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม

โครงการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการตรวจสารไดออกซินในประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ เนโดะ และสถาบันวิจัย โคเบลโค เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสร้างเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ระดับความเข้มข้นของสาร   ไดออกซิน เพื่อใช้กำหนดมาตรการทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย งบประมาณโครงการรวม 80 ล้านเยน

.

นายชาญชัย ยังได้กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากโครงการความร่วมมือดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แล้วยังได้  ลงนามความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสำนักงานเจโทรกรุงเทพฯ เพื่อการจัดตั้งโต๊ะญี่ปุ่น (Japan Desk) โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการให้ข้อมูลและคำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมที่ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และผู้ประกอบการญี่ปุ่น  ที่อยู่ในประเทศไทย

.

รวมถึงการเป็นศูนย์กลางในการประสานและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นให้มีความแน่นแฟ้น เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันที่ดีต่อไปในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินการทั้งหมดนี้ เชื่อได้ว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีความก้าวหน้าและขีดความสามารถที่สูงขึ้นต่อไป

.
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม