สมาคมเครื่องหนังไทย ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จัดโครงการ “เพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตและพัฒนาการออกแบบเพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเครื่องหนังไทย” ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2553 มุ่งผลักดันสินค้าเครื่องหนังแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ตั้งเป้ายอดส่งออกเติบโตในปี 2553 8% |
. |
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “โครงการเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตและพัฒนาการออกแบบเพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเครื่องหนังไทย” เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ซึ่งคณะกรรมการบริหาร สสว. ชุดปัจจุบันได้เห็นความสำคัญและมอบหมายให้ สสว. ดำเนินการ |
. |
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้ ผู้ประกอบการเครื่องหนังรายย่อยและกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุน ได้ยกระดับมาตรฐานของตนเอง โดยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออก ทั้งยังเตรียมความพร้อมให้กับสินค้าแบรนด์ไทย ก่อนออกไปแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ๆ จากต่างประเทศ ในตลาดโลก นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการยังเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปที่สนใจในอุตสาหกรรมเครื่องหนังอีกด้วย |
. |
“สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องหนังของเมืองไทยจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ก็คือด้านเทคโนโลยีในการออกแบบและการผลิต เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเท่านั้น ยังจะช่วยลดต้นทุนแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้สินค้าแบรนด์ไทยมีความแตกต่าง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้คล่องตัวยิ่งขึ้น” นายภักดิ์ กล่าวต่อ |
. |
ทางด้านนางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายกสมาคมเครื่องหนังไทย กล่าวถึงโครงการดังกล่าวคือความต่อเนื่องจากแผน roadmap ที่ทางสมาคมฯ ได้จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2550 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “BUY QUALITY & DESIGN – BUY THAI” หรือ “ซื้อคุณภาพ ซื้อดีไซน์ – ซื้อสินค้าเครื่องหนังไทย” และเพื่อเป็นการรองรับกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว |
. |
ทางสมาคมฯ ได้หันมาเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า แทนการแข่งขันกับตลาด Mass ซึ่งการจะไปถึงจุดหมายนั้น อุตสาหกรรมเครื่องหนังยังขาดการพัฒนาเทคนิคการผลิต และแรงงานที่มีผีมือ โดยเฉพาะบุคคลากรนักออกแบบและนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางอยู่ |
. |
“โครงการนี้คือความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างภาครัฐ ได้แก่ สสว. และภาคเอกชน คือ สมาคมเครื่องหนังไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตและกระบวนการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนการประกอบการ รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านการออกแบบ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ” |
. |
“นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมุ่งยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าเครื่องหนังไทย ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับสินค้าแบรนด์ต่างประเทศ และยังเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของไทย ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างแรงงานใหม่และส่งเสริมการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง” นางเนาวรัตน์ กล่าวต่อ |
. |
ปัจจุบัน สมาคมเครื่องหนังไทยมีสมาชิกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งสิ้น 180 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการที่ผลิตวัตถุดิบ จำนวน 8 ราย ผู้ประกอบการผลิตกระเป๋าหนังและผ้า จำนวน 103 ราย และผู้ค้าส่ง ค้าปลีก จำนวน 69 ราย ในอุตสาหกรรมกระเป๋าและเครื่องหนัง มีจำนวนแรงงานประมาณ 200,000 คน |
. |
ภายใต้โครงการ “เพิ่มขีดความสามารถในกระบวนการผลิตและพัฒนาการออกแบบเพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเครื่องหนังไทย” ทางสมาคมเครื่องหนังไทยจะจัดกิจกรรมที่หลากหลาย |
. |
โดยเน้นให้ความรู้ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้จริง ทั้งงานประชุมเพื่อพัฒนาธุรกิจ งานสัมมนา เวิร์คช็อป ไปจนถึงการให้คำปรึกษาเชิงลึกกับโรงงาน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุน การพัฒนารูปแบบสินค้าและเทคนิคการผลิต เทคโนโลยีการออกแบบสมัยใหม่จากประเทศอิตาลี |
. |
“ทางสมาคมฯ ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสถาบันศึกษาชั้นนำในประเทศและจากหน่วยงานต่างประเทศมาให้คำแนะนำเชิงลึก เกี่ยวกับเทคนิคการผลิตและการออกแบบ รวมถึงการพัฒนาเรื่อง Productivity ซึ่งสินค้าจะได้พัฒนาให้สามารถขายได้ มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น” นางเนาวรัตน์ กล่าว |
. |
สำหรับผู้ประกอบการที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านเทคนิคการผลิต และการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีเป้าหมายในการก้าวไปเป็นผู้ส่งออกสินค้า โดยมีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต มีการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเอง และพร้อมที่จะทำการตลาดและสร้างแบรนด์ของสินค้าของตนเองอย่างจริงจัง |
. |
เกี่ยวกับเรื่องความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยในช่วงที่ผ่านมา นางเนาวรัตน์ เปิดเผยว่าตัวเลขการส่งออกของสินค้าไทยในปี 2552 มีการปรับตัวลดลงจากในปี 2551 19.70% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 47,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 58,500 ล้านบาทในปี 2551 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก |
. |
แต่คาดว่ายอดส่งออกในปี 2553 นี้ น่าจะดีขึ้น และเติบโตขึ้นประมาณ 8% เนื่องจากในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีการตอบรับจากลูกค้าดีขึ้น สำหรับการขายสินค้าเครื่องหนังในประเทศ มูลค่ารวมในตลาดปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท |
. |
นางเนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สินค้าเครื่องหนังของไทยถูกส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก กลุ่มประเทศลูกค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก ฮ่องกง จีน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเวียดนาม ส่วนตลาดเป้าหมายที่ต้องการเจาะเข้าไปในเร็วๆ นี้ ได้แก่ อินเดีย บังคลาเทศ และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้แก่ พม่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย |
. |
“สินค้าเครื่องหนังของไทยมีจุดเด่นตรงที่การออกแบบที่เป็นเอกลัษณ์ มีความแตกต่างของแบรนด์อย่างชัดเจน ผู้ประกอบการเองนอกจากจะมีฝีมือดีแล้ว ยังมีความยืดหยุ่นสูง ทั้งในเรื่องการรับออร์เดอร์ที่สามารถรับผลิตสินค้าในจำนวนจำกัดได้ และสามารถส่งสินค้าในเวลาที่รวดเร็ว รูปแบบดีไซน์ของสินค้ายังมีความหลากหลาย |
. |
คู่แข่งของเราไม่ใช่จีนและเวียดนาม ฐานลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกัน สินค้าของไทยจะโดดเด่นในตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche Market ต่างจากจีนและเวียดนาม ในทางกลับกัน เราเป็นคู่ค้าที่ดีกับอิตาลี ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องหนังมานาน สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้แก่สมาชิกได้เรียนรู้เทคนิคในด้านต่างๆ จากพันธมิตรชาวอิตาลี” |
. |
“ที่ผ่านมา สมาคมฯ พยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการทำการตลาดในเชิงรุกเพิ่มขึ้น โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติมากขึ้น อย่างเช่นงาน Mipel Fair ในอิตาลี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเครื่องหนังที่มีผู้ซื้อจากทั่วโลกให้ความสนใจ เข้ามาสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทแฟชั่น |
. |
ขณะเดียวกัน ทางสมาคมฯ ก็ได้มีการจัด งานสัปดาห์เครื่องหนังไทยขึ้นทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนไทยยอมรับสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งทิศทางการขายภายในประเทศน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ในเรื่องการรณรงค์กระตุ้นให้คนไทยสนับสนุนสินค้าไทยมากขึ้น เครื่องหนังแบรนด์ไทยน่าจะมีอนาคตที่สดในยิ่งขึ้น” นางเนาวรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย |