1. นายกรัฐมนตรีชี้ประกันรายได้เกษตรกรดีกว่ารับจำนำ |
- นายกรัฐมนตรียืนยันโครงการประกันรายได้เกษตรกรดีกว่าโครงการรับจำนำ เนื่องจากประหยัดงบประมาณ และครอบคลุมเกษตรกรทั่วถึง เตรียมใช้นโยบายขยายไปยังพืชผลทางการเกษตรชนิดอื่น เช่น อ้อย และผลไม้บางประเภท ทั้งนี้ จากการประกันรายได้เกษตรกรในรอบแรกที่ผ่านมา ใช้เงินเพียง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเป็นโครงการรับจำนำข้าวใช้เงินถึง 7 หมื่นล้านบาท |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า นโยบายการประกันรายได้เกษตรกร เป็นการสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่เกษตรกร และรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ซึ่งในปัจจุบันใช้กับสินค้าเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ |
. |
โดยรัฐบาลใช้งบประมาณในการแทรกแซงรวมทั้งสิ้น 2.79 หมื่นล้านบาท และจากทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ธค. 52 และ มค. 53 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 และ 20.8 ต่อปี ทำให้รายได้เกษตรกรปรับตัวดีขึ้น และรัฐใช้เงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรน้อยลง |
. |
2. สนข. เตรียมเสนอแผนรถไฟทางคู่มูลค่า 1.53 แสนล้าน |
- สนข.เตรียมสรุปภาพรวมแผนการลงทุนรถไฟทางคู่ระยะ 5 ปี (ปี2553-2557) วงเงินลงทุน รวม 153,000 ล้านบาท เสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค.นี้ |
. |
ซึ่งหลังจากนั้น สศช.จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไปเพื่อจัดหางบในการลงทุน ขณะที่ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เตรียมแผนเสร็จตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว โดยโครงการลงทุนดังกล่าวจะสร้างทางรถไฟคู่ต่อจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 120 กิโลเมตร ออกไปอีก 676 กิโลเมตร |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่า แผนการลงทุนรถไฟทางคู่จำนวน 1.53 แสนล้านบาทจะทำให้การลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม (Crowding in effect) สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน |
. |
นอกจากนั้นเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 18 หากสร้างเสร็จสิ้นในปี 2557 คาดว่าจะทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลดลงเหลือร้อยละ 14 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในเวทีการค้าโลกได้อย่างมาก |
. |
3. ส่งออกญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. ปรับตัวสูงสุดในรอบ 16 เดือน |
- สำนักข่าวเอพี ระบุว่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 53 ได้ขยายตัวถึงร้อยละ 40.9 ต่อปีสูงสุดในช่วง 16 เดือน ซึ่งภาคส่งออกได้ขยายตัว 3 เดือนติดต่อกัน |
. |
ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญจาก 1) การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์สินค้าส่งออกจากญี่ปุ่น (รถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ และเซมิคอนดักเตอร์ ) จากตลาดเอเชียเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากจีนแสดงถึงการขยายตัวด้านบริโภคและลงทุนในภูมิภาค และ 2) ปัจจัยฐานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน |
. |
- สศค.วิเคราะห์ว่าการขยายตัวภาคส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 53 สูงถึงร้อยละ 40.9 นั้น โดยปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังภูมิภาคเอเชียคิดเป็น 2 ใน 3 ของภาคส่งออกญี่ปุ่น มูลค่าส่งออกไปยังจีน (มูลค่าส่งออกสูงสุด) ขยายตัวถึง ร้อยละ 79.9 |
. |
ขณะที่มูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐและสหภาพยุโรปขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 24.2 และ 11.1 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศปรับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 53 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3.9 โดยเอเชียถือเป็นกลไกสำคัญผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัว |
. |
อย่างไรก็ดี การส่งออกญี่ปุ่นที่ขยายตัวสูงมากจากฐานที่ต่ำในปีก่อน หากวิเคราะห์การส่งออกญี่ปุ่นเทียบกับเดือนก่อน (M-0-M) พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -9.4 ต่อเดือน ซึ่งอาจแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางไป |