เนื้อหาวันที่ : 2010-02-25 09:30:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 598 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 24 ก.พ. 2553

1. ครม.มีมติต่อมาตรการช่วยค่าครองชีพแต่ยกเลิกมาตรการอสังหาฯเพราะเศรษฐกิจดีขึ้น

-  คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบ การต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ มาตรการรถเมล์ฟรี รถไฟชั้น 3 ฟรี และมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วย ที่จะสิ้นสุดอายุมาตรการในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จนถึงสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.53 โดยจะใช้เงินงบประมาณชดเชยจำนวน 4.5 พันล้านบาท

.

ขณะที่เห็นชอบให้ยกเลิกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน มาตรการค่าธรรมจดจำนอง และภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์สามารถฟื้นตัวได้โดยมาตรการดังกล่าวทำให้มีการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยรวมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7

.

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีการโอนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ผลประกอบการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของกำไรพบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขณะที่ประชาชนก็เริ่มมีรายได้กลับเข้ามาตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น

.

-  สศค.วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนในหมวดก่อสร้างเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยสะท้อนได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 16.7 ต่อปี และยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี ในเดือนธ.ค. 52 ทำให้ความจำเป็นในการต่ออายุมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง

.

อย่างไรก็ดี ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ รัฐบาลเห็นว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่จึงมีการขยายอายุมาตรการในบางส่วนต่อไปอีก 3 เดือน (ช่วงเดือนเม.ษ. – มิ.ย. 53)

.
2. ส.อ.ท. ชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมเริ่มฟื้น แต่หวั่นขาดแรงงาน

-  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.)  กล่าวถึง แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 53 ค่อนข้างดีในหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่มีออเดอร์ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า ที่ดีขึ้นมากจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมที่ดีขึ้น นั้น แต่ยังคงมีปัญหา คือ ไม่มีแรงงานเพราะส่วนใหญ่กำลังแรงงานกลับบ้านหรือไม่ไปทำในอุตสาหกรรมอื่น เช่น เกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในขณะนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็กลับมาแล้ว

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวโดยสามารถขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 ที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมที่มีน้ำหนักสูงถึงร้อยละ 39.0 ของ GDP และสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.9 ในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดีเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก

.

ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อปี ในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องแรงงานสะท้อนได้จากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงาน ณ สิ้นปี 52 ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องหาแนวทางและนโยบายในการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของแรงงานในประเทศต่อไป

.
3. นักลงทุนญี่ปุ่น ยังมั่นใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิต

-  เศรษฐกรอาวุโสสำนักงานงานเจบิค (JBIC) ประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวสรุปผลสำรวจประจำปี 52 โดยมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยพบว่าจากการสำรวจประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 4 ของเอเชียจากปี 51 ที่อยู่ที่อันดับ 5 ซึ่งรองจากประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่น โดยการส่งเสริมการลงทุนสุทธิจาก BOI ล่าสุดในเดือน ม.ค. 53 พบว่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมสุทธิมีจำนวนเงินลงทุนถึง 56.4 พันล้านบาท โดยคิดเป็นทุนจดทะเบียนจำนวน 12.2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนชาวต่างชาติจำนวน 10.2 พันล้านบาท

.

โดยมีนักลงทุนชาวญี่ปุ่นมีสัดส่วนทุนจดทะเบียนถึง 9.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 65 อย่างไรก็ดี การที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต นั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีนโยบายที่สนับสนุนการลงทุน รวมถึงการเร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและระบบโลจิสติส์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต่อไป

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง