เวียดนามประกาศลดค่าเงินดอง เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนสำรองที่ลดลง สศค.เชื่อไม่กระทบเศรษฐกิจของไทย ทั้งในมิติคู่ค้า และคู่แข่ง แนะรัฐบาลติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด
เวียดนามประกาศลดค่าเงินดอง เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนสำรองที่ลดลง สศค.เชื่อไม่กระทบเศรษฐกิจของไทย ทั้งในมิติคู่ค้า และคู่แข่ง แนะรัฐบาลติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด |
. |
. |
บทสรุปผู้บริหาร |
- เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 ธนาคารกลางเวียดนามปรับลดค่าเงินดองร้อยละ 3.36 เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปริมาณเงินทุนสำรองที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนามยังประกาศกำหนดเพดานอัตราดอกเบียเงินฝากสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ของนิติบุคคลที่ร้อยละ 1 เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรค่าเงินดองของนิติบุคคล |
. |
- ในมิติคู่ค้า สศค.วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากการปรับลดค่าเงินดองต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยโดยรวม |
- ในมิติคู่แข่ง สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดค่าเงินดองจะไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศส่วนใหญ่มีความแตกต่างกัน อีกทั้งปัญหาเงินเฟ้อและค่าเงินดองที่ลดลงเป็นต้นทุนการผลิตของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรติดตามภาวะการแข่งขันในหมวดสินค้าข้าวและคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของทั้งสองประเทศ |
. |
- ประเด็นเชิงนโยบาย ในระยะสั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงอัตราแลกเปลี่ยน อันจะส่งผลเสียต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งเพื่อป้องกันความสูญเสียจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนอีกด้วย |
. |
ในระยะปานกลาง ไทยควรเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง และเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกในระยะปานกลางรวมทั้ง รัฐควรใช้นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อาทิ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาคุณภาพของบุคคลากรผ่านโครงการสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น |
. |
1. ความเป็นมา |
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 53 ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการ (Official Exchange Rate) ลงร้อยละ 3.36 จาก 17,941 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 18,544 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ และได้กำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินฝากสกุลดอลลาร์สหรัฐของนิติบุคคลที่ร้อยละ 1 เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะดัพและปริมาณเงินทุนสำรองที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง |
. |
โดยตั้งแต่ต้นปี 2552 เป็นต้นมา ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดค่าเงินดองมาแล้วรวม 3 ครั้ง (รูปที่ 1) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2552 ค่าเงินดองได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกว่าร้อยละ 9.3 |
. |
การที่ค่าเงินดองอ่อนค่าลงมากในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นร้อยละ 4.6 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย จึงเป็นที่มาของการศึกษาสาเหตุรวมทั้งผลกระทบของการปรับเปลี่ยนดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทย พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว ดังมีรายละเอียดดังนี้ |
. |
รูปที่ 1 อัตราแลกเปลี่ยนทางการและค่าเงินดองที่ซื้อ-ขายจริง |
. |
2. สาเหตุและความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนทางการค้าและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย |
วิกฤตเศรษฐกิจที่เวียดนามกำลังเผชิญในขณะนี้ มีสาเหตุมาจากการที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเร็วเกินไป โดย Real GDP ของเวียดนามได้ขยายตัวสูงที่ระดับร้อยละ 6-9 ในช่วงปี 2547-2551 และแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกหดตัวจากวิกฤต Lehman Brathers เศรษฐกิจเวียดนามปี 2552 ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.3 จากปีก่อน ทั้งนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นผลสือเนื่องจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล |
โดยในปี 2552 มาตรการด้านการคลังของเวียดนามมีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 9 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าที่อยุ่ในระดับเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 ของ GDP และในส่วนของมาตรการด้านการเงิน ธนาคารกลางเวียดนามได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมากจากระดับร้อยละ 14.0 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่ 1 ปี 25522 |
. |
การที่เศรษฐกิจเวียดนามได้ขยายตัวในระดับสูง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในระดับสูงตามไปด้วย การนำเข้าที่สูงขึ้น กอปรกับส่งออกของเวียดนามที่ชะลอตัวลงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้า (Trade Balance) ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 |
. |
โดยในปี 2552 เวียดนามขาดดุลกว่า 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (รูปที่ 2) หรือและล่าสุดในเดือนมกราคม 2553 ก็ยังคงขาดดุลต่อเนื่องที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2550 และปี 2551 ได้ถูกชดเชยด้วยการลงทุนทางตรงและทางอ้อมในเวียดนามที่เป็นบวก |
. |
ส่งผลให้ดุลการชำระเงิน (Balance of Payment) ของเวียดนามเป็นบวกในปี 2550 และติลบเล็กน้อยในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 พิษของวิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การลงทุนทางตรงและทางอ้อมในเวียดนามลดลงอย่างมาก ทำให้ดุลการชำระเงินของเวียดนามติดลบอย่างมีนัยสำคัญเป็นครั้งแรกในปี 2552 |
. |
รูปที่ 2 ดุลการค้าและดุลการชำระเงินของเวียดนาม |
. |
การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) ในขณะที่เวียดนามมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามต้องเข้ามารับซื้อเงินดองเพื่อพยุงค่าเงินดองไม่ให้อ่อนค่ากว่าอัตราแลกเปลี่ยนทางการที่ได้ตั้งไว้ อันส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา (รูปที่ 3) |
. |
โดยล่าสุดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางเวียดนามลดลงจาก 24.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2551 มาอยู่ที่ 18.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2552 การลดลงของเงินทุนสำรองอย่างรวดเร็วดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามต้องประกาศลดค่าเงินดองในครั้งนี้ |
. |
รูปที่ 3 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเวียดนาม |
. |
นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนามยังประกาศกำหนดเพดานดอกเบี้ยเงินฝากสกุลดอลลาร์สหรัฐฯของนิติบุคคลที่ร้อยละ 1 เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนของนิติบุคคล ที่คาดว่าเงินดองจะอ่อนลงมากขึ้นและหันมาถือเงินฝากในรูปดอลลาร์สหรัฐแทน อันจะเพิ่มแรงกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่าลงอีกต่อหนึ่ง |
. |
การประกาศลดอัตราแลกเปลี่ยนทางการครั้งนี้เป็นการประกาศลดค่าเงินครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ต้นปี 2552 ดังนั้นหากการประกาศลดค่าเงินครั้งนี้ไม่สามารถช่วยลดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการประกาศลดค่าเงินดองอีกในปีนี้ |
. |
นอกจากนี้คาดว่าเวียดนามอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง หลังจากที่ไปปรับเพิ่มไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย. 2552 เพื่อลดความร้อนแรงเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาเงินเฟ้อในเวียดนามที่เริ่มกลับมาสูง โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 2553 อยู่ที่ร้อยละ 7.6 (รูปที่ 5) |
. |
3. ผลกระทบต่อประเทศไทย |
สศค.วิเคราะห์ว่าการปรับลดค่าเงินของเวียดนามในครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด โดยจะสรุปผลการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ช่องทาง คือ |
. |
(1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และ (2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการลงทุนระหว่างประเทศ ดังนี้ |
. |
3.1 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศ |
3.1.1 ผลกระทบต่อการค้าไทยในมิติคู่ค้า |
สศค.วิเคราะห์ว่าการปรับลดค่าเงินของเวียดนามในครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและเวียดนามมากนัก เนื่องจากการค้าระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด และแม้ว่าเวียดนามจะเป็นคู่ค้าที่สำคัญลำดับที่ 9 ของไทย |
. |
แต่การค้าระหว่างไทยและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย โดยในปี 2552 ไทยได้ส่งออกไปเวียดนาม 4,678.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพียงร้อยละ 3.07 ของการส่งออกไทยโดยรวม และนำเข้าจากเวียดนาม 1,385.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพียงร้อยละ 1.04 ของการนำเข้าโดยรวม |
. |
อีกทั้งมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเวียดนามที่ 6,063.87 คิดเป็นสัดส่วนที่น้อย เพียงร้อยละ 2.1 ของมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด (ตารางที่ 1) โดยสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังเวียดนามได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเหล็ก (ตารางที่ 2) ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักของไทย ได้แก่ น้ำมันดิบ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ตารางที่ 3) |
. |
สินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากไทยหลายรายการเป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ โดยเฉพาะรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้ในการผลิตสินค้าส่งออกของเวียดนาม (ตารางที่ 2) ดังนั้นเวียดนามจึงไม่น่าลดปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบดังกล่าวจากไทย ดังเห็นได้จากการนำเข้าของสินค้าประเภทวัตถุดับเหล่านี้ที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2552 แม้ว่าเวียดนามจะได้มีการปรับลดค่าเงินดองในช่วงดังกล่าว |
. |
ตารางที่ 1 : การค้าระหว่างไทยและเวียดนาม |
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ |
. |
นอกจากนี้ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเวียดนามหลายรายการเป็นสินค้าที่ไทยมิได้ผลิตเองหรือผลิตไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ อาทิ น้ำมันดิบ และถ่านหิน ซึ่งสินค้านำเข้าเหล่านี้ได้รับอานิสงค์จากค่าเงินดองที่อ่อนค่าลง ทำให้มีมูลค่าการนำเข้าที่มากขึ้น (ตารางที่ 3) |
. |
โดยสรุป จากสัดส่วนการค้าที่น้อย กอปรกับสินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากไทยหลายรายการเป็นสินค้าวัตถุดิบเป็นเหตุผลให้ สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับลดค่าเงินของเวียดนามไม่น่าจะมีผลกระทบการค้าระหว่างไทยและเวียดนามมากนัก |
. |
ตารางที่ 2 สินค้าที่ไทยส่งออกไปเวียดนาม 5 อันดับแรก |
. |
ตารางที่ 3 สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม 5 อันดับแรก |
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ |
. |
3.1.2 ผลกระทบต่อการค้าไทยในมิติคู่แข่ง |
สศค. วิเคราะห์ว่าการปรับลดค่าเงินของเวียดนามโดยรวมไม่น่าจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในระยะสั้นมากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน หากพิจารณาจากสินค้าส่งออกสำคัญของไทยและเวียดนาม จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันบ้าง (ตารางที่ 4 และ 5) |
. |
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าส่งออกไทยและเวียดนามบางรายการ ได้แก่ ข้าว คอมพิวเตอร์ ที่ไทยควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศ ดังนั้นในกลุ่มสินค้าเหล่านี้ เวียดนามอาจได้เปรียบในการแข่งขันในหมวดสินค้าดังกล่าวที่สูงขึ้นจากค่าเงินดองที่อ่อนลงได้ |
. |
ตารางที่ 4 สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม |
. |
ตารางที่ 5 สินค้าส่งออกสำคัญของไทย |
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์ และ CEIC |
ทั้งนี้ ในสินค้าข้าวที่ไทยและเวียดนามมีการแข่งขันกัน ก็เป็นสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีตลาดส่งออกที่แตกต่างกัน โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดหลักได้แก่ อาเซียน คิวบา และอิรัก ในขณะที่ตลาดหลักของไทยได้แก่ อาฟริกา สหรัฐฯ และฮ่องกง |
. |
นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบของการลดค่าเงินดองที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตจากสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกจากเวียดนามลดลง แม้ว่าจากต้นปี 2552 ค่าเงินเวียดนามจะอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ |
. |
ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (รูปที่ 4) แต่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเวียดนามเพิ่มขึ้นตามไปด้วย (รูปที่ 5) ดังนั้น ค่าเงินดองที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อ (Real Exchange Rate) อาจไม่ได้ทำให้ความสามารถการแข่งขันด้านราคาของเวียดนามได้เปรียบสินค้าส่งออกไทยมากนัก |
. |
รูปที่ 4 การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดองเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ |
. |
รูปที่ 5 อัตราเงินเฟ้อของเวียดนาม |
. |
โดยสรุป จากสินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน กอปรกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบของการลดค่าเงินดองที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตจากสินค้าของเวียดนามเพิ่มขึ้น เป็นเหตุผลให้ สศค. วิเคราะห์การปรับลดค่าเงินของเวียดนามโดยรวมไม่น่าจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยมากนัก |
. |
อย่างไรก็ตาม ไทยควรต้องติดตามภาวะการแข่งขันในหมวดสินค้าข้าวและคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นหมวดสินค้าส่งออกหลักของทั้งสองประเทศ ประกอบกับการสนับสนุนให้มีการกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง |
. |
3.1.3 ผลกระทบต่อการค้าบริการ |
สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดค่าเงินดองของเวียดนามในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากเวียดนามคิดเป็นเพียงสัดส่วนน้อยเพียงร้อยละ 2-3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดที่เดินทางมาประเทศไทย (ตารางที่ 6) |
. |
ตารางที่ 6 จำนวนนักท่องเที่ยวจากเวียดนาม |
. |
3.2 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการลงทุน |
3.2.1 ผลกระทบต่อการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนาม |
สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดค่าเงินของเวียดนามในครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบการลงทุนระหว่างไทยและเวียดนามมากนัก เนื่องจากการลงทุนระหว่างไทยคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2552 (ม.ค. – พ.ย. 52) การลงทุนโดยตรงจากเวียดนามมายังไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 1.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 0.03 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด (ตารางที่ 7) |
. |
ตารางที่ 7 การลงทุนทางตรงจากเวียดนามมายังไทย |
. |
3.2.2 ผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติในไทย |
สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เวียดนามกำลังประสพ เป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดฐานการลงทุนกลับมาไทย เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่เวียดนามกำลังประสพจะส่งผลให้ให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเวียดนามลดลง ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอย่างเช่นประเทศไทย |
. |
เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามแล้ว ไทยมีระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า อีกทั้งเสถียรภาพด้านดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในสถานะที่มั่นคงมากกว่า กล่าวคือ ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากขณะที่เวียดนามขาดดุล อัตราเงินเฟ้อในไทยติดลบอยู่ขณะที่เวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อสูง (ตารางที่ 8) |
. |
ตารางที่ 8 การเปรียบเทียบข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานของไทยและเวียดนาม |
. |
4. ประเด็นเชิงนโยบาย |
นโยบายภาครัฐเพื่อรองรับผลกระทบของการลดค่าเงินดองและภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในปัจจุบันแบ่งได้ดังนี้ |
1. นโยบายระยะสั้น ได้แก่ |
1.1 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงอัตราแลกเปลี่ยน อันจะส่งผลเสียต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย |
. |
1.2 หน่วยงานรัฐควรเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนไหวของเงินทุนที่ไหลเข้าหรือออกจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการป้องกันการเก็งกำไรจากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้การไหลออกของเงินทุนจากเวียดนามอันเป็นผลจากการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของเวียดนามอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องภายในภูมิภาค (contagion effect) |
. |
กล่าวคือ นักลงทุนต่างชาติต่างดึงเม็ดเงินออกจากประเทศในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยด้วย ซึ่งจะทำเกิดการไหลออกของเงินทุนจำนวนมากและกระทบต่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค |
. |
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยควรเฝ้าระวังติดตามค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปซึ่งอาจกระทบต่อการวางแผนการค้าและการลงทุนของผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุน ทั้งนี้อาจแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ในกรณีที่เกิดการเก็งกำไรในตลาดค่าเงินบาทของไทย |
. |
1.3 ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนที่ทำการค้าหรือลงทุนในประเทศเวียดนามในการทำการศึกษาถึงผลกระทบของปัญหาภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในปัจจถบันเพื่อให้ภาคเอกชนมีการปรับตัวและหาแผนรองรับสถานการณ์ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนไทยไม่ได้รับผลกระทบกับปัญหาดังกล่าวมากนักและยังป้องกันผลกระทบทางอ้อมต่อสถาบันการเงินไทยที่เป็นแหล่งเงินกู้ให้กับธุรกิจนั้น ๆ |
. |
2. นโยบายระยะปานกลาง ได้แก่ |
2.1 รัฐบาลควรวางมาตรการเพื่อสนับสนุนการกระจายตลาดส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่มีอัตราการเติบโตดี เช่น จีน ตะวันออกกลาง และอินเดียทซึ่งจะช่วยปรับสัดส่วนการส่งออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ให้เกิดความสมดุลระหว่างตลาด สินค้าส่งออกต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการพึ่งพาเศรษฐกิจภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งและช่วยให้เกิดเสถียรภาพของภาคการส่งออก |
. |
ทั้งนี้การพึ่งพาตลาดส่งออกใหญ่เพียงไม่กี่ตลาดจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมากกว่าการมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย กล่าวคือ หากมีการกระจายตลาดส่งออกของไทย เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือภูมิภาคหนึ่งประสบปัญหาทางเศรษฐกิจก็จะกระทบภาคการส่งออกไทยได้น้อยกว่า |
. |
2.2 รัฐอาจใช้มาตรการการคลังาและการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกน้อยลง และหันมาพึ่งพาการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งการลงุทนในโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่มีวงเงินลงทุนมูลค่า 1.43 ล้านล้านบาท เช่น โครงการระบบขนส่ง โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา เป็นต้น |
. |
2.3 รัฐบาลควรใช้นโยบายสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้ประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเวียดนาม ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อพร้อมกับดึงดูดการเก็งกำไรของนักลงทุน |
. |
ดังนั้น รัฐจึงควรสนับสนุนมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพัฒนาคุณภาพของบุคลากรผ่านโครงการสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น |
. |
ผู้เขียน ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร CFA, FRM และดร.สิริกมล อุดมผล ส่วนการวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ขอบคุณ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และคุณพงษ์นคร โภชนากรณ์ ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจ สำหรับข้อมูลและคำแนะนำในการเขียนบทความนี้ |
. |
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง |