เนื้อหาวันที่ : 2010-02-24 09:19:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 604 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 23 ก.พ. 2553

1. สศช.ประกาศ เศรษฐกิจ Q4 ปี 52 โตร้อยละ 5.8 ต่อปี

- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 52 เติบโตที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี หรือร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากไตรมาส 3 ปี 52 ที่หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) ทำให้ทั้งปี 52 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหดตัวที่ร้อยละ -2.3 ต่อปี

.

- สศค.วิเคราะห์ว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 52 มาจากภาคการส่งออก ทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ โดยการส่งออกสินค้าสุทธิและบริการสุทธิมีส่วนใน GDP (GDP Contribution) ที่ร้อยละ 4.5 และร้อยละ12.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาครัฐเติบโตดีถึงร้อยละ 5.2 ต่อปี  ผลจากนโยบายของรัฐที่เน้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

.

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ โดยหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี หรือมี contribution ต่อ GDP ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมในปี 52 ดีกว่าที่สศค.คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 52)

.
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์เดือน ม.ค. 53 โตขึ้นกว่า 43%

- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.)  เปิดเผย จำนวนยอดขายภายในประเทศ การผลิต และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศเดือน ม.ค. 53 พบว่ายอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ม.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,560 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 54.5 ต่อปี แต่ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 31.3 ต่อเดือน

.

เป็นไปตามเป้าที่คาดว่ายอดขายภายในประเทศปี 53 จะถึง 600,000 คัน ซึ่งมากกว่าปี 52 ที่ขายได้ 548,871 คัน โตขึ้นร้อยละ 9.3 ทั้งนี้ เป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น และจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรถยนต์รุ่นเล็กเข้ามาเสริมในตลาด

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 53 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 54.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 27.7 ต่อปี

.

ขณะที่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนม.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 37.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 24.4 ต่อปี และสอดคล้องกับดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในเดือน ม.ค. 53 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 47.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28.8 ต่อปี

.

ทั้งนี้ ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นคาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงวิกฤติซึ่งจะส่งผลให้การผลิตยานยนต์ในปี 53 ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาและจะทำให้การจ้างงานภาคผลิตยานยนต์มีการจ้างงานเพิ่ม

.
3. จีนประกาศนโยบายใหม่สนับสนุนการผลิตรถยนต์แบรนด์จีน

- กระทรวงอุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสารของจีน แถลงข่าวว่ารัฐบาลจีนวางแผนดำเนินนโยบายใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ควบรวมกิจการเพื่อขยายสู่การพัฒนาแบรนด์รถยนต์จีน

.

- ทั้งนี้ จีนกลายเป็นผู้ผลิตรถรายใหญ่สุดของโลกและตลาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา โดยมีการผลิตและการขายอยู่ที่ประมาณ 13.5 ล้านคัน เนื่องจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้จีนมีผู้ผลิตรถกว่า 130 รายทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กซึ่งมีกำลังการผลิตและยอดขายต่อปีต่ำกว่า 10,000 คัน มีเพียง 5 รายที่ยอดขายสูงกว่า 1 ล้านคัน ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถระดับTop 10 มียอดผลิตรถรวม 11.89 ล้านคันหรือ 87% ของยอดขายรวม

.

- สศค. วิเคราะห์ว่าจากการที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายใหม่สนับสนุนการผลิตรถยนต์แบรนด์จีนอาจส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อการส่งออกไทย โดยจะมีผลด้านบวกต่อมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมที่คาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

.

ขณะที่อาจส่งผลลบต่อการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ (Hub)ของไทย ที่มูลค่าการส่งออกยานยนต์ของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 9.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งรถยนต์จีนอาจเข้ามาตีตลาดและแย่งส่วนแบ่งตลาดไป เนื่องจากรถยนต์จีนเน้นที่ราคาถูกและมีขนาดเล็กเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง