เนื้อหาวันที่ : 2010-02-22 10:42:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 697 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 22 ก.พ. 2553

1. พาณิชย์ปลื้ม ส่งออกม.ค.โต 30.8%

-  กระทรวงพาณิชย์ เผยมูลค่าส่งออกเดือนม.ค. 53 มีมูลค่า 13,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ30.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นตัวเลขสองหลักเป็นเดือนที่สาม ขณะที่มูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 13,208 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

.

ทำให้ไทยเกินดุลการค้าในเดือนม.ค. 53 ประมาณ 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์มูลค่าการส่งออกในปี 2553 ว่าจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 14 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า1.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 30.8 ต่อปี เป็นผลมาจากราคาที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี ขณะที่ปริมาณขยายตัวร้อยละ 17.7 ต่อปี หากพิจารณาการส่งออกหักสินค้าที่มีความผันผวนซึ่งได้แก่ทองและน้ำมันสำเร็จรูป พบว่าขยายตัวร้อยละ 42.5 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

.

ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ในด้านการนำเข้าพบว่า การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่หักทองขยายตัวร้อยละ 53.2 ต่อปี ส่วนการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 22.9 ต่อปี บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศทั้งนี้ สศค.คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 15.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 14.5 - 16.5 ต่อปี คาดการณ์ ณ ธ.ค. 52)

.
2. สศก.ระบุความหวานอ้อยลดฉุดรายได้เกษตรกร

-   เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากภาวะแล้งประกอบกับอากาศหนาวช่วงสั้นๆ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลให้อ้อยให้ความหวานหรือน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 9-10 ซี.ซี.เอส. ลดลงจากปีก่อนที่ค่าความหวานเฉลี่ยประมาณ 11 ซี.ซี.เอส.

.

ซึ่งค่าความหวานของอ้อยที่ลดลงจะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรลดลงตามไปด้วย (ซึ่งจากมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 52/53 ในอัตราตันอ้อยละ 965 บาท ณ ระดับค่าความหวาน 10ซี.ซี.เอส. โดยกำหนดอัตราขึ้น-ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 57.9 บาทต่อ 1 หน่วยซี.ซี.เอส.) ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยปี 53/54 จะอยู่ที่ประมาณ 74 ล้านตัน พื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 6.5 ล้านไร่ ตามอุปสงค์ในตลาดโลก

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. ปี 53 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่แล้วตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากอุปสงค์สินค้าเกษตรของโลกที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจของโลก ในขณะที่ผลผลิตการเกษตรของโลกกลับลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่ค่อยเอื้อต่อการเพาะปลูก

.

ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรที่ขายได้ของไทยในเดือนม.ค. 53 ขยายตัวที่ 20.8 ต่อปี (ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกเดือนที่ 3 ติดต่อกัน) และส่งผลให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 14.7 ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในปี 53

.

3. สิงคโปร์คาดเศรษฐกิจปี 53 โตที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี

-  ก.กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เผย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี53 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.5 – 6.5 ต่อปี เพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 – 5.0 ต่อปี ขณะที่ปี 52 GDP หดตัวที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี

.

โดยคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความต้องการสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้การค้ารวมของประเทศจะโตที่ร้อยละ 9.0 – 11.0 ต่อปี และทำให้การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 10.0 – 12.0 ต่อปี

.

-  สศค. วิเคราะห์ การที่สิงคโปร์ปรับประมาณการขึ้นครั้งนี้เป็นผลจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าที่ส่งผลให้การส่งออกของสิงคโปร์ดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของสิงคโปร์เดือนธ.ค. 52 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 23.3 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี
สะท้อนถึงแนวโน้มการส่งออกสินค้าปี 53 ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 52 ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวที่ร้อยละ -18.0 ต่อปี

.

ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 53จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี และส่งผลให้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย 14 ประเทศ ในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.8 – 3.8ต่อปี ประมาณการ ณ ธ.ค. 52)

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง