เนื้อหาวันที่ : 2007-01-19 10:44:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1350 views

ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับเศรษฐกิจปีนี้แผ่วลง ส่งออกชะลอ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอ ยันมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอ ยันมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท เป็นมาตรการที่จำเป็น โดยเมื่อครบรอบ 1 เดือนของการใช้มาตรการพบว่าทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงถึงร้อยละ  2

.

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอ จะทำให้การส่งออกปรับตัวลดลง โดยจะปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้อีกครั้งปลายเดือนมกราคมนี้ ยืนยันมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เพื่อสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท เป็นมาตรการที่จำเป็น โดยเมื่อครบรอบ 1 เดือนของการใช้มาตรการพบว่าทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงถึงร้อยละ  2

.

นางธาริษา  วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวบรรยายในงาน 1  รัฐมนตรี 4 ผู้ว่าฯ มองอนาคตเศรษฐกิจไทย 2550 ถึงภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ว่า จะชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค หลังจากที่มีสัญญาณชัดเจนว่าการส่งออกจะปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลง ส่งผลให้กำลังซื้อน้อยลงไปด้วย ขณะเดียวกันภาคการลงทุนยังปรับตัวลงในทิศทางเดียวกัน   ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 โดยภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ทาง ธปท.จะปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง ซึ่งจะมีการประกาศตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง

.

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงภาวะค่าเงินบาทว่า ภายหลังจากที่ ธปท.ออกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 2 ซึ่งถือว่าเป็นการอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง เช่น มาเลเซีย ที่ค่าเงินยังแข็งค่าร้อยละ  1.4 และฟิลิปปินส์ร้อยละ 1.0 ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ติดตามการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง

.

โดยในปี  2549 พบว่าการแข็งค่าของเงินบาทถึงร้อยละ 17 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคธุรกิจการส่งออกที่ใช้แรงงานและใช้วัตถุดิบนำเข้าน้อย ได้แก่ สินค้าภาคการเกษตร หากการแข็งค่าของเงินบาทกระทบภาคการส่งออกที่มีความสำคัญก็จะส่งผลต่อภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.