เนื้อหาวันที่ : 2010-02-17 08:49:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 734 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 16 ก.พ. 2553

1.  เอสเอ็มอีญี่ปุ่นลุยไทยกระหน่ำยื่นขอบีโอไอ

- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผย จำนวนการขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เดือน ม.ค. 53 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติยื่นการขอลงทุนเข้ามาทั้งหมด 61 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอยู่ 46 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนถึง 4.83 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 381 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท

.

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ให้ความสนใจลงทุนในไทยมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น 31 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 4.4 หมื่นล้านบาท โดยกิจการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่นักลงทุนต่างชาติขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 52 ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 4 ปี 52 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวที่ร้อยละ -2.3 ต่อปี หดตัวชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปี

.

โดยการที่นักลงทุนต่างชาติมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก อุตสาหกรรม และการบริการของไทย ให้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และยังทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปี 53 สศค. คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงจะขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.0 ถึง 9.0 ต่อปี) ประมาณการ ณ เดือน ธ.ค. 52

.
2. AREA เผยผลสำรวจอสังหาริมทรัพย์เดือน ม.ค. 53 รวมมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท

- ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เปิดเผยว่าจากการสำรวจตลาดอสังหาฯ เดือนม.ค. 53 พบว่า มีโครงการเกิดใหม่ จำนวน 24 โครงการ 

.

 โดยมีมูลค่าการพัฒนาโครงการรวม 12,687 ล้านบาท และคิดเป็นจำนวน 6,604 หน่วย แบ่งเป็นทาวน์เฮ้าส์ มีจำนวนมากถึง 2,589 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 39.2) รองลงมาคือ อาคารชุดมีจำนวน 2,522 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 38.2) ส่วนอันดับ 3 คือ บ้านเดี่ยวมีจำนวน 1,335  หน่วย (สัดส่วนร้อยละ  20.2) ของจำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจ เช่น  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.53 ที่อยู่ที่ระดับ 71.9 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 21 เดือน 

.

ภาษีมูลค่า ณ ระดับราคาคงที่ เดือนม.ค. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3  และอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่า ปี 53 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ ธ.ค. 52)

.
3. โกลด์แมนแซคส์คาดปักกิ่งปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5

- หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมนแซคส์ให้สัมภาษณ์ว่า มีแนวโน้มว่าจีนอาจเตรียมปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5 เพื่อชะลอเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเชื่อว่าการปรับค่าครั้งนี้จะเป็นการปรับแบบรวดเดียว ก่อนจะวางกรอบการซื้อขายหยวนให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น หรืออิงกับตะกร้าเงินหลายส่วนหลายสกุลมากกว่าเดิม ทั้งนี้  โกลด์แมนแซคส์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 12-14 ต่อปี ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นน่าจะมีเป้าหมายเพื่อชะลอการส่งออกสุทธิของจีน ซึ่งที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.0 ต่อปี ในเดือน ม.ค.53 โดยการชะลอตัวของการส่งออก ย่อมส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 40 ของ GDP จีน

.

แต่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่แท้จริงคือการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น การป้องกันเศรษฐกิจฟองสบู่จึงควรมุ่งเน้นไปยังการชะลอการบริโภค อย่างไรก็ตาม ในช่วงผ่านมาสินเชื่อส่วนบุคคลของจีนขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนม.ค.53 ธนาคารพาณิชย์จีนได้ปล่อยสินเชื่อคิดเป็นร้อยละ 19 ของเป้าหมายทั้งปี 

.

ตลอดจนราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 21 เดือน จึงมีแนวโน้มว่า ทางการจีนอาจควบคุมการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ อนึ่ง สศค.คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี (หรือช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.7-9.7 ต่อปี) คาดการณ์ ณ ธ.ค. 52

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง