เนื้อหาวันที่ : 2010-02-15 09:41:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 680 views

รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 8-12 ก.พ. 2553

อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือ 3.5 แสนคน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อันมีสาเหตุหลักจากการว่างงานในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการปรับตัวลดลง

.

ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 หรือ 3.8 แสนคน และส่งผลให้ทั้งปี 52 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 หรือ 5.7 แสนคน

.

การจ้างงานรวมเดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่ 38.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.6 แสนคนจากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาบริการ โดยเฉพาะค้าส่งค้าปลีก และก่อสร้างเป็นหลัก และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.7 หมื่นคน หรือร้อยละ 0.05 หากพิจารณาตามสาขาพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานสาขาอุตสาหกรรม

.

โดยเฉพาะการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ การผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และการผลิตเครื่องแต่งกาย ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมและภาคปริการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ การจ้างงานรวมไตรมาส 4 ปี 52 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี และส่งผลให้การจ้างงานรวมทั้งปี 52 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี

.

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนม.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดสำคัญ เช่น พืชอาหาร  โดยเฉพาะข้าวนาปี และมันสำปะหลัง ที่อยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด(เพลี้ยน้ำตาลกระโดดในข้าว และเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง)

.

ในขณะที่หมวดไม้ยืนต้น ผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น จากผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาขยายตัวในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรกรีดยางเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดปศุสัตว์ ผลผลิตหดตัวลงเล็กน้อยจากผลผลิตไก่เนื้อ  ในขณะที่ผลผลิตสุกรและไข่ไก่ขยายตัวสูงขึ้น

.

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 ต่อปี (เป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน) จากการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ปรับตัวดีขึ้น ตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น 

.

ในขณะที่ผลผลิตในประเทศและของโลกลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในบางประเทศ ในขณะที่ไทยมีผลผลิตลดลงเนื่องจากปัญหาโรคระบาด

.

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ม.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 71.9  ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 70.4 และสูงสุดในรอบ 21 เดือน

.

โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) เศรษฐกิจไทยเริ่มสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ 2) ความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

.

เช่น การที่ครม.มีมติต่ออายุ 5 มาตรการ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนและการอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ 1) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และ 2) ปัญหาโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ถูกคำสั่งศาลให้ระงับชั่วคราว

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง