เนื้อหาวันที่ : 2007-01-18 17:53:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 904 views

ภาคเอกชน ชี้ส่งออกสูญเสียแสนล้านหลังเงินบาทแข็งค่า

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องค่าเงินบาท ระบุภาคการส่งออกสูญแสนล้านบาทหลังเงินบาทแข็งค่ากว่าร้อยละ 14 ประเมินค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อไป คาดเศรษฐกิจโตแค่ระดับร้อยละ 4.5-5.5

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน  3  สถาบัน  (กกร.) ประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องค่าเงินบาท ระบุภาคการส่งออกสูญแสนล้านบาทหลังเงินบาทแข็งค่ากว่าร้อยละ 14  ประเมินค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อไป ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  คาดจะทำให้การบริโภคและการลงทุนดีขึ้น แต่ส่งออกชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจจะเติบโตระดับร้อยละ 4.5-5.5 

.

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  ประกอบด้วย  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง ค่าเงินบาท  นายธนิต  โสรัตน์  รองเลขาธิการ ส.อ.ท.  กล่าวว่า  การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปลายปี  2548  จนถึงปัจจุบันแข็งค่าประมาณร้อยละ  14.5  มากที่สุดในรอบ  8 ปี  นับว่าแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคทั้งเงินหยวนที่แข็งค่าร้อยละ  3.4  เกาหลีร้อยละ  7.5  สาเหตุหลักมาจากการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยเฉพาะกองทุนบริติชเวอร์จิน และกองทุนลงทุนของสิงคโปร์เกือบร้อยละ  70  ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบทำให้ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากได้รับผลกระทบ  สำหรับทิศทางของเงินบาทนั้นคงแข็งค่าต่อไป  โดยจะอยู่ในระดับประมาณ  36.5-37  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  โดยนักลงทุนต่างประเทศกำลังเฝ้ามองมาตรการใหม่ ๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

.

ทั้งนี้  จากการสำรวจของ ส.อ.ท. พบว่าผู้ประกอบการกว่าร้อยละ  52.7 จะเริ่มได้รับผลกระทบที่อัตราแลกเปลี่ยน  37-38  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  แต่หากค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ  33-34  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ผู้ส่งออกกว่าร้อยละ  86.7  จะได้รับผลกระทบ  โดยธุรกิจส่งออกร้อยละ  35.5  ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด และร้อยละ  58  เป็นผู้ส่งออก ใช้วัตถุดิบในประเทศร้อยละ  71  ธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็นกว่าร้อยละ  90  ที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท  ซึ่งภาครัฐต้องให้ความใส่ใจ  เพราะภาคส่งออกมีบทบาททางเศรษฐกิจถึงร้อยละ  67  ของจีดีพี และมีการใช้แรงงาน  5.5-6  ล้านคน  ขณะที่ผู้ส่งออกไทยจะต้องปรับตัวรับความผันผวนของค่าเงินบาทและจากการสำรวจผู้ประกอบการส่งออกอยากให้เงินบาทอยู่ในระดับ 38-39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ ส.อ.ท.คาดว่าเงินบาทน่าจะอยู่ในระดับ  37-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทระดับนี้จะเป็นระดับที่ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวได้

.

นายธนิต กล่าวอีกว่า  ตามที่ ธปท.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 4.75 และปรับอัตราอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) จาก 14 วัน เป็น 1 วัน เชื่อว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่เร่งการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น  และเป็นมาตรการเสริมที่จะดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป  ซึ่งการลดดอกเบี้ยของ ธปท.ครั้งนี้จะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงและกระตุ้นให้ผู้ฝากเงินนำเงินไปลงทุนมากขึ้น  ทำให้ปีนี้การบริโภคภายในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ  ขณะที่การส่งออกจะขยายตัวลดลงอยู่ในระดับประมาณร้อยละ  9-10  จากที่กระทรวงพาณิชย์เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ  12  และเชื่อว่าจะส่งผลให้จีดีพีเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 4.5-5  เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ  4.5-5.5

.

รองเลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวถึงการที่ประเทศไทยใช้มาตรการทางการทูตตอบโต้ประเทศสิงคโปร์ ว่า  คงส่งผลกระทบต่อนักลงทุนสิงคโปร์ที่จะชะลอดูทิศทางจากทางการของไทย และนอกจากนักลงทุนสิงคโปร์จะชะลอการลงทุนแล้ว ทางหอการค้าญี่ปุ่นที่หารือกับ ส.อ.ท.มีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทยพอสมควร  ดังนั้น ภาพที่จะเห็นหลังจากนี้ไปของนักลงทุนสิงคโปร์จะรอดูทิศทางก่อนตัดสินใจเข้ามาลงทุน  เพราะนักลงทุนต่างชาติมองมาตรการของรัฐบาลที่มีหลากหลายแม้เป็นมาตรการดีแต่ผิดเวลา และยังกังวลว่ารัฐบาลจะเป็นรัฐบาลชั่วคราวหรือไม่  จะมีมาตรการปิดประเทศและจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่  และจะรับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)  หรือไม่อย่างไร  จึงทำให้เกิดการถอยออกไป  อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ยังเชื่อมั่นว่าในที่สุดรัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องความมั่นคงได้และที่สุดเงินจะไหลกลับเข้ามาประเทศไทย  เพราะนักลงทุนต่างชาติก็อยากจะกระจายความเสี่ยงโดยกลับเข้ามาลงทุนในไทย

.

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ประเมินผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อการส่งออกโดยรวมในปี  2549  ว่า  ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง  105,976  ล้านบาท  หรือส่งผลให้มูลค่าการส่งออกรวมลดลงร้อยละ  2.39    ซึ่งคิดจากค่าเงินบาท  40.22 บาท ในปี  2548 มาอยู่ที่  37.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนปี  2550 จะต่ำกว่า  100,000  ล้านบาท  จากการสำรวจใน  9 อุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากคือผู้ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก 

.

ทั้งนี้  จากผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการร้อยละ  70 ระบุว่าหาก  3  ปีข้างหน้าสถานการณ์เงินบาทยังแข็งค่าต่อ ผู้ประกอบการจะลดการผลิตลง  แต่จะไม่ย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามหรือประเทศที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า  เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง  ซึ่งผู้ประกอบการไม่มีศักยภาพพอและจะทำให้เสียลูกค้าให้คู่แข่งขันในที่สุด  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ลูกค้าจะไปซื้อสินค้าที่จีนและเวียดนาม  ขณะที่อุตสาหกรรมยางพาราจะไปซื้อจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย  ซึ่งผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐรักษาเสถียรภาพเงินบาทไม่ให้แกว่งตัว  ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวโดยการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งค่าเงินบาทในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่  36-36.5  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ขณะที่ผู้ส่งออกรับได้ในระดับ  36-37  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีต่อธุรกิจอยู่ที่  37-38  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

.

นายอัทธ์  กล่าวถึงการที่ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงว่า จะส่งสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนให้ดีขึ้น  จากเดิมที่คาดว่าการลงทุนและการบริโภคในไตรมาสแรกจะลดลง  อย่างไรก็ตาม ศูนย์ศึกษาการค้าฯ  ยังยืนยันว่าจะไม่ปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยปีนี้ที่ร้อยละ  4-5 

.

นายสอาด  ธีรโรจนวงศ์  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ  สายบริหารการเงิน  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)   กล่าวว่า ค่าเงินบาทของไทยในช่วง  1-2  เดือนหลังจากนี้จะยังคงผันผวนสูง  เนื่องจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ยังรอดูมาตรการสำรองร้อยละ  30 จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ และเชื่อว่าเงินทุนจะรอเวลาที่จะออกไป และในปีนี้เงินที่จะเข้ามาลงทุนและออกไปจากประเทศไทยจะมีสัดส่วนเท่ากัน  สำหรับปัจจัยที่อ่อนไหวและกระทบต่อการดำเนินมาตรการของ ธปท.ที่สำคัญคือตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบ  และหากเงินบาทแข็งค่า เงินที่อยู่ในประเทศของต่างชาติจะทยอยไหลออกไป  ซึ่งอาจเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนมาตรการของรัฐ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนของไทยอาจจะอยู่ในระดับ  36-37  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  หากเงินไหลออกอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่  37-38  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  และเฉลี่ยทั้งปี  2550  คิดว่าค่าเงินบาทน่าจะอยู่ระดับ  37-38  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  แต่จะแกว่งตัวระหว่างปี  ขณะที่ดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดลงได้อีก  ซึ่งในช่วง  6  เดือนหลังจากนี้ไปยังไม่แน่ใจว่าเงินทุนของต่างชาติที่มีอยู่จะไหลออกไปมากน้อยเพียงใด  และสภาพคล่องภายในประเทศจะรองรับได้เพียงใด.