บ.แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จก. คลิก iTAP ทำงานจริง ผุดผลิตภัณฑ์ใหม่ "อะคริลิคกันกระสุน" เหนียว ทนแรงกระแทกสูง ตั้งเป้าเปิดตลาดทำ "ตู้กระจกร้านทอง" มั่นใจทำงานกับ iTAP สามารถนำความรู้เปลี่ยนเป็นเงินช่วยพัฒนาภาคธุรกิจอย่างแท้จริง
บ.แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จก. คลิก iTAP ทำงานจริง ผุดผลิตภัณฑ์ใหม่ "อะคริลิคกันกระสุน" เหนียว ทนแรงกระแทกสูง ใช้ทำกระจกรถตู้นำไปใช้จริงแล้วในชายแดนใต้ ตั้งเป้าเปิดตลาดทำ "ตู้กระจกร้านทอง" มั่นใจทำงานกับ iTAP สามารถนำความรู้เปลี่ยนเป็นเงิน ช่วยพัฒนาภาคธุรกิจอย่างแท้จริง |
. |
|
นายโสรัตน์ วณิชวรากิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด |
. |
แผ่นอะคริลิค เป็นแผ่นพลาสติกที่มีคุณสมบัติใส เงางาม สมารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายประเภท อาทิ ผลิตเป็นชิ้นส่วนต่างๆในรถยนต์ หมวกกันน็อก กระเบื้องมุงหลังคาใส แผ่นป้ายโฆษณา ฯลฯแต่ข้อจำกัดของพลาสติกชนิดนี้ คือ เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย เปราะและแตกหัก ไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในงานที่ต้องรับแรงกระแทกหนัก บริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรมจำกัด กลับฉีกกฎเหล่านี้โดยสามารถพัฒนาแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูง ทำให้เกิดหลากหลายผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง |
. |
บจก. แพนเอเชีย อุตสาหกรรม เริ่มต้นดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแผ่นอะคริลิคมาตั้งแต่เมื่อปี 2527 เน้นการทำงานที่การสร้างคน สร้างระบบ และยังเป็นบริษัทรายแรกและรายเดียวที่ได้รับ ISO ทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ISO 9000 บริหารคุณภาพ ISO 14000 ด้านสิ่งแวดล้อม และ ISO 18000 สำหรับความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงได้รับรางวัลจากการทำงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกมากมาย |
. |
นายโสรัตน์ วณิชวรากิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อ 15 ปีที่แล้วเข้ามารับช่วงต่อจากคุณแม่จิราพร วณิชวรากิจ ทำให้กลายเป็นบริษัทคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ที่พยายามส่งเสริมด้านการทำงานวิจัยและพัฒนา |
. |
“เราผลิตแผ่นอะคริลิคซึ่งเป็นคนไทยรายเดียวที่ยังเหลืออยู่ในประเทศ เนื่องจากคู่แข่งเป็นต่างชาติหมด จึงพยายามส่งเสริมเรื่องการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้บุคลากรได้สัมผัสการวิจัยและลงมือปฏิบัติจริง แต่การทำ R&D นั้นมีความเสี่ยง อย่างในขั้นตอนการทำวิจัยอาจทำได้ดี แต่เมื่อต้องผลิตจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น |
. |
เมื่อเป็นSMEs จึงยิ่งต้องพยายามลดความเสี่ยงและคิดว่าน่าจะมีหน่วยงานที่สามารถ สร้างสะพานเชื่อมการวิจัยกับการทำงานจริง และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ต่างๆที่ทำงานวิจัยร่วมกันว่ามี iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) จึงเกิดความสนใจเข้าร่วมโครงการ” |
. |
รศ.นฤมล เครือองอาจนุกูล คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญจาก iTAP จึงเข้ามาร่วมให้คำปรึกษาวิจัยและพัฒนากับบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัดใน โครงการการผลิตแผ่นอะคริลิค ทนแรงกระแทกสูง ด้วยเทคนิค Interpenetrating Polymer Networks (INPs) ในระดับ Pilot scale |
. |
รศ.นฤมล กล่าวว่า พอลิเมทิลเมทาคริเลต (Polymethyl methacrylate) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูงนั้นมีสมบัติเด่น ได้แก่ ความใส ยอมให้แสงผ่านได้มากกว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก แต่ยังมีข้อด้อย เช่น การเปราะแตกได้ง่าย |
. |
เมื่อได้เข้ามาพัฒนางานในโครงการพบปัญหาระหว่างกระบวนการผลิต เช่น รอยย่นในกระบวนการหล่อขึ้นรูป ระยะเวลาเทสารลงแม่พิมพ์ ฯลฯ จึงได้ปรับปรุงสูตรต่างๆร่วมกับบริษัทฯเพื่อให้เหมาะสมที่จะนำไปใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ |
. |
ผลจากการเข้าร่วมกับโครงการ iTAP ยังทำให้บริษัทฯสามารถปรับสูตรและกระบวนการผลิตแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูง ด้วยเทคนิค INPs ใน Pilot scale ได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังมีสมบัติเชิงกลและกายภาพผ่านมาตรฐาน จนสามารถนำไปผลิตขายได้จริง และพนักงานของบริษัทยังได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ทั้งด้านวิชาการและกระบวนการผลิต ทำให้บริษัทฯสามารถรับออเดอร์เพิ่มเติมจากลูกค้าต่างๆถึง 5 บริษัทและขยายตลาดใหม่ในสินค้าที่มีความต้องการแผ่นอะคริลิคทนแรงกระแทกสูง เช่น แผ่นอะคริลิคที่ทนกระสุน เป็นต้น |
. |
รศ.นฤมล กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ยังทำให้ได้รับรางวัลต่างๆ อีกมากมาย อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในงานประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยครั้งที่ 8 นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯเข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุม Youth Climate Conference Asia ณ ประเทศคูเวต และได้ร่วมเสนอผลงานในนิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 50 ปี มจพ.ของมหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในปีที่ผ่านมาอีกด้วย |
. |
กรรมการผู้จัดการบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการนำมาโจทย์จากลูกค้ามาตั้งว่าจะทำอย่างไรให้อะคริลิคแข็งแรงขึ้นโดยพัฒนาสูตรร่วมกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ได้อะคริลิคที่มีความสามารถในการทนแรงกระแทกได้สูงและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ลูกค้ามีความต้องการที่จะนำไปผลิตเป็นกระจกป้องกันกระสุนในรถตู้ |
. |
และได้ทำการทดสอบยิงแผ่นอะคริลิคของเราด้วยกระสุน 0.38 มม.ในระยะยิง 7 เมตร ปรากฏว่าเป็นที่น่าพอใจ สามารถกันกระสุนได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการผลิตเป็นกระจกด้านข้างของรถตู้ โดยทำมาจากใช้อะคริลิคหนา 15 มิลลิเมตร ซึ่งจะมีความเหนียว ทนกระสุนและมีการนำไปใช้งานจริงแล้วในจังหวัดยะลา |
. |
“บริษัทฯยังต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม เนื่องจากแม้แผ่นอะคริลิคจะมีความเหนียว ทนทาน เงางาม ใสเหมือนกระจกไม่แตก แต่ยังมีจุดด้อย คือ แผ่นอะคริลิคจากทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นของบริษัทใด ยังไม่สามารถป้องกันรอยที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งหากใครข้ามแดนตรงนี้ได้ก็จะเจอน้ำอีกมาก ดังนั้นจึงเป็นคำตอบที่บริษัทฯยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม” |
. |
กรรมการผู้จัดการบริษัท แพนเอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า เนื่องจากแผ่นอะคริลิคเป็นสินค้าที่สามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ทำให้สามารถสร้างตลาดใหม่ๆทดแทนได้ เช่น ป้ายโฆษณาหากมีคนใช้น้อยลง โดยบริษัทฯผลิตแผ่นอะคริลิคที่มีความหนา 50-60 มิลลิเมตรซึ่งหนามาก รูปแบบต่างๆ จึงทำให้มีการปรับเปลี่ยนตลาดหมุนเวียนกันไป |
. |
“ลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย 70% โดยบริษัทฯผลิตแผ่นอะคริลิคเพียงอย่างเดียวและส่งต่อให้กับบริษัทลูกค้านำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆตามความต้องการ ดังนั้นบางผลิตภัณฑ์อาจมีความหนา-บางแตกต่างกันไป ส่วนที่มีความหนาไม่มากนัก มักทำเป็น “กรอบพระ” ทั้งที่เป็นแบบตั้งและห้อยคอ ซึ่งอาจไม่ต้องใช้อะคริลิคที่หนามาก ช่วยให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนไปได้ด้วย” |
. |
ด้านตลาดยังมองโอกาสการขยายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เสมอ การเล็งเห็นสถานการณ์ร้านทองที่ราคาทองสูงขึ้น อาจเป็นสิ่งจูงใจให้เกิดการก่ออาชญากรรม ทำให้มองว่าหากนำอะคริลิคที่มีความหนาและทนแรงกระแทกสูงสูตรนี้พัฒนาเป็น “ตู้กระจกร้านทอง” เพื่อป้องกันกระสุน จะช่วยป้องกันการก่อเหตุร้ายทางหนึ่งได้ |
. |
ผู้บริหารแพนเอเชียฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านกำลังการผลิตในปีที่ผ่านมา(2552)บริษัทฯผลิตแผ่นอะคริลิคจำหน่ายประมาณ 10 ตัน โดยมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 15 % ซึ่งเป็นผลมาจากการเน้นกลยุทธ์โดยรวมด้านการตลาดและการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการพัฒนางานวิจัยและการนำงานวิจัยมาใช้จริง |
. |
นอกจากนี้ยังมองการเข้าร่วมกับโครงการ iTAP ว่า ค่อนข้างพอใจที่ iTAP ปรับสถานการณ์ทำงานร่วมกับเอกชนได้ดี เช่น การสนับสนุนด้านงบประมาณที่ช่วยให้ภาคเอกชนมีความกล้าที่นำไปใช้ในภาคการผลิตจริงไม่ใช่การทำงานวิจัยพื้นฐานเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการทำงานที่เน้น “การนำองค์ความรู้มาเปลี่ยนให้เป็นเงิน” ซึ่งจะทำให้ SMEs เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดได้อย่างแท้จริง |