1. นายกรัฐมนตรียืนยันไม่ลดงบไทยเข้มแข็ง |
- นายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ไม่ได้มีแนวคิดปรับลดเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง แต่จะเป็นการปรับลดโครงการต่างๆให้มีความเหมาะสม พร้อมยืนยันว่า ไม่คิดถอนพระราชบัญญัติเงินกู้ 4 แสนล้านบาท แต่เห็นว่า รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงินในจำนวนมากเท่าที่เคยคำนวนเอาไว้ก่อนหน้านี้ |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 53 มีสองประการ คือ (1) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และ (2) การดำเนินการโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งโดยมีกรอบวงเงินลงทุนในปี 53 จำนวน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้น มค. 53 เบิกจ่ายแล้ว 4.6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการลงทุนระดับชุมชนและสาขาขนส่ง |
. |
โดยในปีงบประมาณ 53 กระทรวงการคลังได้เร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 2.3 แสนล้านบาท และในส่วนที่เหลือ 1.2 แสนล้านบาทภายในปีปฏิทิน 53 ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ในระดับร้อยละ 3.5 ต่อปี |
. |
2. สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยจำนวนผู้ว่างงานในเดือน ธ.ค. 52 ลดลงร้อยละ 0.9 |
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผย การจ้างงานเดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่จำนวน 38.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 โดยคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานจำนวนทั้งสิ้น 3.5 แสนคน ของกำลังแรงงานรวม ทั้งนี้ จำนวนผู้ว่างงานที่ลดลงหลักมาจากภาคการผลิต 9 หมื่นคน ภาคการบริการและการค้า 7.9 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 2.9 หมื่นคน |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการว่างงานได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 9 เดือน นับตั้งแต่ในเดือน เม.ย.52 เป็นต้นมา ที่จำนวน 8.1 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 มาอยู่ที่จำนวน 3.5 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 ในเดือน ธ.ค.52 แสดงให้เห็นถึงการจ้างงานที่กลับเข้ามาหลังจากภาคการผลิตมีการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราว่างงานในปี 53 เฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.6 และการว่างงานที่ลดลงนี้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น |
. |
3. เทรดเดอร์เปิดสถานะขายกับเงินยูโร หวั่นปัญหาหนี้สาธารณะยูโรโซน |
- เทรดเดอร์และกองทุนป้องกันความเสี่ยงเปิดสถานะขาย (Short Position) กว่า 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเก็งกำไรแนวโน้มการลดค่าเงินยูโร โดยเป็นการเปิดสถานะการขายกว่า 40,000 สัญญา จากความกังวลของนักลงทุนต่อความสามารถของการจัดการกับหนี้สาธารณะของกรีซ โปรตุเกส อิตาลีและสเปน |
. |
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงของหลายประเทศในยุโรป โดยเฉพาะ กรีซ โปรตุเกส อิตาลีและสเปน (PIGS) นั้น ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าปัญหาดังกล่าวอาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวมและกลายเป็นปัญหาต่อภาคการเงินของโลก |
. |
โดยในปี 2552 ประเทศโปรตุเกสมีระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 77 ต่อ GDP ในขณะที่อิตาลีที่ประมาณร้อยละ 110 ต่อ GDP กรีซที่ระดับ 113 ต่อ GDP และสเปนอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 54 ต่อ GDP |
. |
ทั้งนี้ การขาดดุลการคลังยังอยู่ในระดับสูง โดยที่ โปรตุเกส กรีซ และสเปนขาดดุลการคลังเกินกว่าร้อยละ 10 ต่อ GDP ส่วนอิตาลีขาดดุลที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับที่ EU Commission กำหนดไม่เกินที่ร้อยละ 3 ต่อ GDP ทำให้เกิดความกังวลถึงเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปในระยะยาว |