เนื้อหาวันที่ : 2010-02-09 14:39:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2663 views

The 21st Century Economy Fusion Economy เมื่อเศรษฐกิจหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

การเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานั้น ปัจจัยสำคัญได้รับอิทธิพลมาจากพลังของโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้โลกใบนี้ถูกย่อส่วนให้แคบลง ทั้งนี้พลังดังกล่าวถูกขับเคลื่อนจากการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีบทบาทเชื่อมต่อโลกใบนี้ในทุก ๆ ด้าน

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ
.

ซีรีส์ The 21st Century Economy ฉบับนี้ ผู้เขียนขอแนะนำศัพท์เศรษฐกิจคำหนึ่ง คือ Fusion Economy ครับ หรือ ถ้าแปลตรงตัวก็หมายถึง “เศรษฐกิจที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน”

.

คำว่า Fusion นั้นหมายถึง การหลอมรวมหรือการหลอมละลายเข้าด้วยกัน (Merger) ดังนั้นเมื่อนำมาขยายคำว่า Economy แล้วจึงเปรียบเสมือนการหลอมรวมเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งนี้ Fusion Economy จัดเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องโลกาภิวัฒน์อีกด้วยครับ

.

อย่างที่ทราบกันดีว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานั้น ปัจจัยสำคัญได้รับอิทธิพลมาจากพลังของโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้โลกใบนี้ถูกย่อส่วนให้แคบลง ทั้งนี้พลังดังกล่าวถูกขับเคลื่อนจากการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Revolution) ซึ่งมีบทบาทเชื่อมต่อโลกใบนี้ในทุก ๆ ด้าน

.

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเกิดคำว่า Fusion Economy นั้นเราอาจจะต้องย้อนหลังกลับไปถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของโลกยุคใหม่ (Contemporary World History) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. 1939-1945) สงบลงใหม่ ๆ

.

ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต ได้สถาปนาลัทธิการเมืองใหม่ที่เรียกว่า Doctrine of Conquest ครับ ซึ่งเป็นลัทธิที่แสดงให้เห็นว่าประเทศฝ่ายประชาธิปไตย (ยกเว้นสหภาพโซเวียต) สามารถเอาชนะประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิชาตินิยมทางทหารอย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี ได้ โดยชัยชนะในครั้งนั้นยังสามารถรักษาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไว้ได้อีกด้วย

.

ภาพสามผู้นำสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
จากซ้ายไปขวา สตาลิน (โซเวียต), รูสเวลท์ (สหรัฐอเมริกา) และ เชอร์ชิล (อังกฤษ)

.

อย่างไรก็ดีหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เกิดการขับเคี่ยวกันของสองลัทธิการปกครองระหว่าง “โลกฝ่ายประชาธิปไตย” ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่กับ “โลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์” ที่นำโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งการขับเคี่ยวดังกล่าวนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ทำให้เราได้เห็นการต่อสู้กันทั้งอุดมการณ์ทางการเมืองและอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ

.

ทั้งนี้ฝ่ายประชาธิปไตยเชื่อในกลไกตลาดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมเชื่อว่าการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางของรัฐจะสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกัน

.

อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกันสะท้อนให้เห็นจุดยืนที่ต่างกันของลัทธิการปกครองทั้งสอง กล่าวคือ ฝ่ายทุนนิยมประชาธิปไตยนั้นเชื่อในเรื่องประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรมากกว่าความเท่าเทียมกัน ทำให้ละเลยในเรื่องความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรจนก่อให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้ 

.

ขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมตั้งอยู่บนจุดยืนเรื่องความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรเป็นสำคัญซึ่งตรงนี้กลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์สามารถเผยแพร่ไปยังประเทศยากจนทั้งหลายได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มประเทศโลกที่สามที่เพิ่งจะได้รับเอกราชหลังจากพ้นยุคล่าอาณานิคมมาแล้ว

.

จุดเริ่มต้นของการขับเคี่ยวระหว่างสองลัทธิเศรษฐกิจและการเมืองเกิดขึ้นหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขับไล่พรรคก๊กมินตั๋งและเข้าปกครองประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1949 และหลังจากที่จีนได้กลายเป็น “สาธารณรัฐ” แล้ว ทั้งจีนและสหภาพโซเวียตได้กลายเป็นประเทศสังคมนิยมต้นแบบที่เผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปตะวันออก อินโดจีน ละตินอเมริกา จนกลายเป็นที่มาของคำว่า Domino Effect ครับ

.

การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจได้นำไปสู่สภาพการณ์ที่เรียกว่า “สงครามเย็น” หรือ Cold War ซึ่งกินเวลาถึง 40 ปี จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1989 เมื่อเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตกตัดสินใจทุบ “กำแพงเบอร์ลิน” เพื่อรวมประเทศกันอีกครั้งเป็น “สหพันธรัฐเยอรมนี”

.

พร้อมกันนั้นเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าโลกทุนนิยมประชาธิปไตยน่าจะมีชัยชนะในสงครามเย็นแน่นอน เมื่อสหภาพโซเวียตแตกสลายลงในปี ค.ศ. 1990 ในสมัยนายมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbashev) ซึ่งทำให้ตำแหน่งพี่ใหญ่ของโลกสังคมนิยมตกมาอยู่กับ “จีน”ในที่สุด

.

จุดเริ่มต้นของจุดจบ
อดีตสองผู้นำแห่งโลกประชาธิปไตยและโลกสังคมนิยม
ประธานาธิบดีเรแกน และ นายกอร์บาชอฟ

.

นอกจากนี้สัญญาณอีกอย่างที่ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในลัทธิสังคมนิยมเดิม คือ การปรับเปลี่ยนบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวคือ จีนค่อย ๆ ผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่างที่รัฐเคยควบคุมเศรษฐกิจไว้และหันมาใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรภายใต้นโยบายสี่ทันสมัย (Four Modernizations) ของ เติ้ง เสี่ยว ผิง ในช่วงทศวรรษที่ 80 ทำให้ทุกวันนี้จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

.

สี่ทันสมัยของเติ้ง เสี่ยว ผิง
กับการพลิกโฉมหน้าของจีนยุคใหม่  ในทศวรรษที่ 80 (ภาพหน้าปกนิตยสารไทม์)

.

สงครามการค้า (Trade War)
การต่อสู้ทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น

.

ในช่วงทศวรรษที่ 80 นอกจากจะขับเคี่ยวในเรื่องอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจแล้วยังมีการขับเคี่ยวกันในเรื่องการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอีกด้วยครับ จนเป็นที่มาของคำว่า “สงครามการค้า” หรือ Trade War และในเวลาต่อมาสงครามการค้าได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่พูดถึงแนวคิดเรื่องการค้าเสรี (Free Trade) ซึ่งพัฒนาไปสู่การจัดตั้งองค์กรการค้าโลกหรือ WTO เพื่อดูแลเรื่องการค้าเสรีในปัจจุบัน

.

WTO องค์กรการค้าโลก
อีกหนึ่งองค์กรโลกบาลสำคัญในศตวรรษนี้

.

จะเห็นได้ว่าโลกของเราตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมานั้นได้กลายเป็นโลกที่ขับเคลื่อนโดยใช้พลังเศรษฐกิจเป็นสำคัญนะครับ โดยมีแรงส่งอย่างโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้หลายประเทศเปิดเส้นทางเจรจาการค้ากันมากขึ้น มีการรวมกลุ่มกันทางการค้าและเศรษฐกิจหลายกลุ่ม (Economy Bloc) มีการเปิดรับการลงทุนทั้งทางตรงและทางการเงินมากขึ้น   

.

มีตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศ มีตลาดอนุพันธ์ (Derivative Market) มีเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ที่มาช่วยป้องกันความเสี่ยงของราคาโภคภัณฑ์หรือราคาทองคำในตลาดโลก เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าโลกาภิวัฒน์ทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนไปอย่างแท้จริงครับ

.

เมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา พลังแห่งโลกาภิวัฒน์ยังมีบทบาทสำคัญที่หลอมโลกใบนี้ให้เชื่อมเข้าหากันในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จนมีนักคิดตะวันตกหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่าโลกในศตวรรษนี้เป็นโลกที่มีความหลากหลายแต่ก็มีความผันผวนไปพร้อม ๆ กัน

.

ในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายยังยึดโยงอยู่กับแนวคิดที่เรียกว่า “ฉันทามติวอชิงตัน” หรือ Washington Consensus ซึ่งได้กลายเป็นแบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทุนนิยมใหม่ที่เชื่อในเรื่อง “เสรีนิยม” เป็นสำคัญครับ แต่อย่างไรก็ดีในศตวรรษใหม่นี้เราได้เห็นการเติบโตของกลุ่มทุนต่าง ๆ จากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนจีน กลุ่มทุนอินเดีย กลุ่มทุนตะวันออกกลาง กลุ่มทุนรัสเซีย เป็นต้น

.

สองบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีน (Sinopec) และอินเดีย (Reliance Industries Limited)
ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไปแล้ว

.

การปรากฏตัวของ “Chindia” หรือ แนวคิดที่ว่าในอนาคตจีนกับอินเดียจะกลายเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลกนั้นทำให้เราเห็นศักยภาพของโลกตะวันออกทั้งในแง่การค้า การลงทุน การจัดการทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความพยายามที่จะส่งออกวัฒนธรรมออกไปทั่วโลก

.

นอกจากนี้การขยายตัวของกลุ่มทุนจากตะวันออกกลางโดยเฉพาะกลุ่มทุนดูไบและอาบูดาบียิ่งทำให้บทบาทของภูมิภาคเอเชียมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น นี่ยังไม่นับรวมการควบคุมทรัพยากรน้ำมันของกลุ่มโอเปคที่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบตะวันออกกลาง

.

Chindia สิงห์ร่าย มังกรรำ
ขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ในศตวรรษที่ 21

.

โลกในศตวรรษใหม่ยังเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตของประเทศหน้าใหม่ที่กำลังเปิดประตูทางการค้าการลงทุนอย่างแข็งขันหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Emerging Economy ครับประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยเป็นประเทศสังคมนิยมมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว หรือแม้แต่ประเทศที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียตเดิมอย่าง อาร์เซอไบจาน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศต่าง ๆ ในแถบแอฟริกาก็ยังเป็นประเทศที่น่าค้นหาทั้งในแง่ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

.

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่าโลกในศตวรรษที่ 21 นั้นเป็นโลกที่อยู่ภายใต้เศรษฐกิจแบบหลอมรวมกันอย่างแท้จริงครับ คำว่า Fusion Economy จึงสะท้อนภาพได้ดีว่าเมื่อประเทศต่าง ๆ ในโลกหันมาจับมือกัน ติดต่อเชื่อมโยงกันทั้งทางด้านการค้า การลงทุนแล้ว ผลประโยชน์ที่ได้ย่อมมีมากมายมหาศาลกับคนทั่วทั้งโลก

.

แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในเรื่องอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจน “ละเลย” คุณภาพของการเติบโตนั้นทำให้เกิดตะกอนตกค้างมากมายจากการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาโลกร้อน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ยังไม่นับรวมปัญหาสังคมที่นับวันดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ปัญหาการก่อการร้ายซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของประเทศพัฒนาทั้งหลายอีกด้วย

.
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องเผชิญกันต่อไปในศตวรรษที่ 21…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ
.
เอกสารประกอบการเขียน

1. Randy Charles Epping ,The 21st Century Economy ; A Beginner ’s Guide
2. David Martin, Emergence of Fusion Economy
3. ภาพประกอบจากนิตยสารไทม์และwww.wikipedia.org