เนื้อหาวันที่ : 2010-02-09 10:09:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 826 views

คจร. เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2553 โดยมี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตีว่าการกทะรวงมหาดไทย นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย         

.

ที่ประชุมเห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอ โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการในระยะ 10 ปีแรก (เปิดบริการในปี พ.ศ. 2562)

.

ประกอบด้วย  1) สายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม.  2) สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 17.5 กม.  ศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี  ระยะทาง 20 กม.  3) สายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 19.8 กม.          

.

4)  สายสีเขียว   ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7 กม.  ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส ระยะทาง 1 กม.  5)  สายสีแดงเข้ม ช่วงหัวลำโพง-บางบอน ระยะทาง 18 กม.  6) สายสีแดงอ่อน  ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14 กม. และ  7) สาย Airport Link ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21 กม. 

.

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของการต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม จากช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร เป็นหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กิโลเมตร และยกเลิกศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบินดอนเมือง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 โดยให้ใช้ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) บริเวณคูคต จังหวัดปทุมธานีแทน และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (รฟม.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง    

.

รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้ก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ- พญาไท-มักกะสัน และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ตลอดจนโครงการ Airport Link ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ ซึ่งได้ออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างแนวรางในระดับคลองแห้ง (Open Trench)

.

โดยการขุดเจาะลึกลงไปในดิน และมีการวิ่งของขบวนรถไฟลึกลงไปจากผิวดินเดิม โดยอาจมีการปิดกั้นผิวดินด้านบนในลักษณะอุโมงค์หรือมีการเปิดเผยดินด้านบน โดยพิจารณานับรวมการก่อสร้างระดับคลองแห้งให้จัดรวมอยู่ในระดับใต้ดิด          

.

ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบในหลักการ การกำหนดรูปแบบทางวิ่งเป็นทางยกระดับและกำหนดรูปแบบทางรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสะพานรถไฟ บริเวณท่าเรือสี่พระยา-คลองสาน สำหรับโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงหัวลำโพง-บางบอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย

.

เนื่องจากการลอดแม่น้ำเจ้าพระยาจะติดปัญหาเรื่องอุโมงค์ส่งน้ำ และระดับความลาดชันของการเดินรถเกินกว่าข้อกำหนดของ รฟท.โดยเสนอดำเนินรูปแบบเดียวกับโครงสร้างสะพานถนน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสี่พระยา-คลองสานได้ โดยขอยกเว้นการปฏิบัติหรือดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่องพื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน          

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางขนาดรองในพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานเอง ที่มีแนวสายทางนอกเหนือและไม่ซ้ำซ้อนกับโครงข่ายจากที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทในช่วง 10 ปีแรก ให้สามารถดำเนินการได้ 

.

กรณีที่เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนสายรองที่มีปริมาณผู้โดยสารในปีที่เริ่มเปิดดำเนินการต่ำกว่า 8,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง ทั้งนี้ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการบูรณาการโครงข่ายระบบขนส่วมวลชน ระบบตั๋วร่วม โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม  อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป